ครม.หนุน ก.คลังพักหนี้ 3 ปี – รับจ่าย ดบ.แทนเกษตรกร

“ครม.เศรษฐา” ไฟเขียว “คลัง-ธ.ก.ส.” เดินหน้าพักหนี้รอบใหม่  เน้นกลุ่มลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล พร้อมเร่งพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการฯ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ด้าน “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รอบนี้ไม่เหมือนเดิมเหมือน 13 ครั้งก่อน เหตุไม่ใช่แค่ประวิงเวลา แต่จะกลับมาได้อย่างเข้มแข็ง เผย! รัฐเตรียมเม็ดเงินกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมรับภาระดอกเบี้ยแทนเกษตกรในช่วงเวลา 3 ปี

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าว ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี ตามที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 – 12 กันยายน 2566 โดยมีรายละเอียดมาตรการ ดังนี้

1. มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านราย ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0 – 3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans : NPLs)) ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2567 โดยเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ์สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามความสมัครใจ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว

2. การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เพื่อเป็น การบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกรอย่างบูรณาการ ธ.ก.ส. ร่วมกับส่วนงานราชการและหน่วยงานภายนอก ดำเนินการอบรมเกษตรกร คู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ที่ได้เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ โดยการ อบรมอาชีพเกษตรกรจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยการเงินซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว 

อนึ่ง เพื่อให้การกำหนดมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs เป็นไปอย่างบูรณาการและให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน โดยคณะทำงานมีอำนาจและหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการในการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง คาดว่า มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรรายย่อยให้สามารถมีรายได้เหลือเพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็นในครัวเรือน รวมถึงมีโอกาสขยายการลงทุนในการประกอบอาชีพและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ซึ่ง ธ.ก.ส. ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภายนอกอย่างบูรณาการจะช่วยยกระดับการดำรงชีพของเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะนำไปสู่การเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างความมั่นคงของเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืนต่อไป

“ครั้งนี้จะแตกต่างไปจากการพักหนี้เกษตรกร 13 ครั้งก่อนหน้านี้ เพราะจะไม่ใช่แค่การประวิงเวลาในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของพี่น้องเกษตรกร ที่เมื่อพ้นกำหนดเวลาพักหนี้ เกษตรกรก็ไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิม บางรายกลับแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ แต่ครั้งนี้ เราพุ่งเป้าแก้ปัญหาในเวลา 3 ปี โดยจะเป็นทั้งการพักชำระเงินต้นและพักการชำระดอกเบี้ย ซึ่งการพักภาระหนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว พี่น้องเกษตรกรจะต้องกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง โดยภาครัฐได้เตรียมวงเงินในการดำเนินมาตรการดังกล่าวราว 1.1 หมื่นล้านบาทเศษ” รมช.คลัง ย้ำ

ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวเสริมตอนหนึ่งว่า โครงการนี้จะแตกต่างไปจากการพักหนี้ก่อนหน้านี้ สรุปเป็น 5 ประเด็นคือ 1.จะคุมหนี้ชั้นเดิมไว้ หากเป็นลูกหนี้ดีจะไม่กลายเป็นเอ็นพีแอล 2.ความพยายามจะตัดหนี้เงินต้นจาก ธ.ก.ส. เปลี่ยนลำดับการใช้หนี้ของเกษตรกร เพื่อให้ยอดหนี้ลดลง 3.จะให้สินเชื่อเพิ่มเติมระหว่างพักชำระหนี้ ซึ่งต่างจากโครงการก่อนหน้านี้ โดยดูจากความสามารถและศักยภาพในการประกอบอาชีพและชำระหนี้คืน 4.เพิ่มมาตรการเข้าไปดูและเพิ่มศักยภาพของเกษตกร เข้าไปกับการพักชำระหนี้ ผ่านโครงการฝึกอบรมต่างๆ และ 5.การพักหนี้จะรวมถึงกลุ่มลูกหนี้เอ็นพีแอลด้วย เพื่อทำให้เอ็นพีแอลลดลง.

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 02 555 0555.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password