กรมราชทัณฑ์ ยืนยัน “ทักษิณ” ไม่ได้ยื่นพักโทษ ติดคุกยังไม่ครบเกณฑ์
โฆษกราชทัณฑ์ ย้ำชัด “ทักษิณ ชินวัตร” ยังไม่ยื่นขอพักโทษ เหตุจำคุกยังไม่ครบเกณฑ์ ชี้โทษจำคุกหลังได้รับอภัยลดโทษ จะสุดที่เดือน ก.พ.2567 ส่วน การรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ใกล้ครบ 30 วัน ต้องส่งรายงานสุขภาพให้อธิบดีฯ พิจารณาให้นอนต่อหรือส่งกลับเรือนจำฯ
วันที่ 18 ก.ย.2566 นายสิทธิ สุธีวงศ์ โฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องขังเด็ดขาด ได้ยื่นเอกสารต่อเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขอเข้าโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือ พิการ หรือ มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป โโยขอยืนยันว่า นายทักษิณ หรือครอบครัว ยังไม่ได้ยื่นขอพักโทษแต่อย่างใด และทางราชทัณฑ์ ยังไม่ได้รับทราบการยื่นเอกสารดังกล่าว ส่วนกระบวนการขอพักโทษนั้น เป็นกระบวนการที่เรือนจำจะเป็นผู้พิจารณายื่นเรื่องให้กรมราชทัณฑ์ พิจารณา
ทั้งนี้ ทางเรือนจำฯ สามารถยื่นรายชื่อบุคคล ที่จะดำเนินการพักโทษได้ จะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติของนักโทษรายนั้นๆ โดยแบ่งเป็น 2 กรณีคือ 1.แบบปกติ นักโทษรายนั้นๆจะต้องโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของโทษจำคุกที่ได้รับ และ 2.แบบพิเศษ มีเกณฑ์แยกย่อย 3 ข้อ คือ จะต้องเป็นนักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป , มีภาวะป่วยชราภาพ และต้องโทษไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษจำคุก หรือ ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งกรณีของนายทักษิณ สามารถเข้าเกณฑ์ได้ทั้งแบบปกติและแบบพิเศษก็ได้ เพราะนายทักษิณ เอง ถือเป็นผู้ต้องขังสูงอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป และป่วยด้วย
โฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนแรกในโครงการพักการลงโทษนั้น ทางเรือนจำจะทำหน้าที่สำรวจรายชื่อผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ และพิจารณาจากคุณสมบัติของนักโทษรายนั้น ว่าเข้าเกณฑ์แบบปกติหรือแบบพิเศษ ตามที่เรียนแจ้งข้างต้น นายทักษิณ อาจได้รับการพิจารณาเข้าโครงการพักการลงโทษ แต่ตามกฎหมายระบุชัดเจนว่าจะต้องมีการรับโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือตั้งแต่ 6 เดือน อย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า ซึ่งปัจจุบันนี้นายทักษิณ ได้รับการอภัยลดโทษเหลือจำคุกเพียง 1 ปี ดังนั้น 1 ใน 3 ในที่นี้ก็คือ 4 เดือน แต่ตามกฎหมายระบุว่า หรือ 6 เดือน อย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า ซึ่งหมายความว่านายทักษิณจะต้องจำคุกมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน การยื่นเข้ามาก่อนก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เพราะยังไม่เข้าเกณฑ์ จึงทำให้กรณีของนายทักษิณ โทษจำคุกจะไปสิ้นสุดอยู่ที่ห้วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567
อย่างไรก็ดี นายทักษิณ จะถูกพิจารณาพร้อมกับผู้ต้องขังเด็ดขาดรายอื่นๆ เนื่องจากเรือนจำ มีการเสนอเรื่องขึ้นมาแล้ว จึงมีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการพักการลงโทษของกรมราชทัณฑ์
นายสิทธิ กล่าวต่อว่า หากนายทักษิณ เข้าเกณฑ์ได้รับการพักการลงโทษ ทางเรือนจำก็จะแจ้งไปยังทนายความผู้ต้องขัง เพื่อแจ้งเงื่อนไขให้ทราบว่านักโทษจะต้องรู้คุณสมบัติของตัวเอง แล้วต้องเตรียมเอกสาร อีกทั้งจะมีการสัมภาษณ์ เพราะผู้ต้องขังเด็ดขาดแต่ละรายที่ผ่านเกณฑ์จะต้องเข้าให้การสัมภาษณ์กับทางเรือนจำ เพื่อได้ดูตัวและสอบถามพูดคุย ว่าครบเกณฑ์หรือไม่และยังมีกระบวนการอื่นๆ อีกมาก
“สำหรับกรณีของนายทักษิณ ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ หรือที่ รพ.ตำรวจ ซึ่งปกติแล้วจะต้องมีคุณสมบัติผ่านเข้ารับการอบรมต่างๆ แต่เมื่อเจ้าตัวไม่สามารถเข้ารับการอบรมได้ ก็จะมีข้อยกเว้นอื่นๆ ซึ่งคณะกรรมการจะต้องไปลงรายละเอียดเพื่อหารือกันอีกครั้ง แต่ตอนนี้นายทักษิณ ยังไม่ถึงเวลาที่จะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาสำหรับโครงการดังกล่าว เพราะว่ายังต้องโทษจำคุกไม่ครบตามเกณฑ์” นายสิทธิ กล่าวและว่า ปกติทางเรือนจำมีการสำรวจล่วงหน้าประมาณ 1-2 เดือน ก่อนจะถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพราะมีขั้นตอนในส่วนของกรมคุมประพฤติ ที่จะต้องไปสืบเสาะและรายงานผลกลับมา เราจึงจะมีการประชุมของคณะกรรมการ
เมื่อถามว่า ใกล้ครบกำหนดระยะเวลาการพักรักษาตัวภายนอกเรือนจำ 30 วัน ทางเรือนจำหรือราชทัณฑ์ จะพูดคุยกับทีมแพทย์ รพ.ตำรวจ หรือไม่ ว่าจะพิจารณาให้นายทักษิณรักษาต่อเนื่อง หรือส่งกลับเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โฆษกกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า เมื่อใกล้ครบ 30 วัน ทาง รพ.ตำรวจ จะต้องส่งผลประเมินเรื่องสุขภาพมายังเรือนจำ และกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเราจะพิจารณาจากความเห็นของแพทย์ และอาจจะไม่ได้มีการประชุมอะไรร่วมกับนายแพทย์ใหญ่อย่างเป็นทางการ ถ้าหากนายทักษิณ ยังคงมีอาการไม่ทุเลา หรือแพทย์มีความเห็นให้มีความจำเป็นจะต้องรับการรักษาเฉพาะทางต่อเนื่อง เรือนจำฯ ก็จะพิจารณาจากความเห็นของแพทย์ และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ก็จะอนุญาตให้พักรักษาตัวภายนอกเรือนจำต่อไปได้
วันเดียวกัน นายพิชิต ไชยมงคล พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.เพื่อสอบถามอาการป่วยของนายทักษิณ พร้อมกับขอให้นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ชี้แจงความจริง โดยมี พ.ต.อ.ถาวร มีขำ รองผบก.ทพ.นายตำรวจเวรอำนวยการ เป็นผู้แทนรับเรื่อง โดยนายพิชิต กล่าวว่า นายทักษิณ อ้างสิทธิเป็นผู้ป่วยขอย้ายมารักษาตัวนอกเรือนจำ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งสังคมมีคำถามถึงอาการว่าป่วยจริงหรือไม่ เนื่องจากไม่ใช่การป่วยเก่าที่เคยรักษาตัวจากต่างประเทศ พร้อมกับเห็นว่านายทักษิณ มีอาการปกติเมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทย การอ้างการป่วยด้วยเอกสารจากต่างประเทศ จึงไม่สามารถเอามาอ้างในการรักษาตัวนอกเรือนจำได้
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 22 กันยายนนี้ เครือข่ายฯ จะเข้าพบอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อสอบถามประเด็นดังกล่าว ว่าอาการป่วยของนายทักษิณ เพียงพอที่จะต้องรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ หรือไม่ ถ้าตอบคำถามสังคมได้ ก็จะไม่เกิดความเคลือบแคลง และวันที่ 24 กันยายนนี้ จะมาทำกิจกรรมและทวงถามที่ รพ.ตำรวจ อีกครั้ง.