รมว.อุตฯ เตรียมถก นายกฯแก้ปัญหาจ่ายเงินค่าตัดอ้อยสด
รมว.อุตสาหกรรม เตรียมหารือนายกฯ แก้ปัญหาจ่ายเงินค่าตัดอ้อยสด หลังตัวแทนสมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อย 38 แห่งจากทั่วประเทศ ตบเท้าขอรับทราบแนวทางการแก้ปัญหาอ้อยและน้ำตาล ย้ำเงินสนับสนุนไม่ผูกพันกับงบประมาณใหม่ ปี 2567
วันนี้ (8 กันยายน 2566) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายนรุณ สุขสมาน รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ประชุมร่วมกับตัวแทนสมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อย 38 แห่งจากทั่วประเทศ เพื่อ ขอรับทราบแนวทางการแก้ปัญหาอ้อยและน้ำตาล ทั้งระบบโดยเฉพาะกรณีเร่งด่วนเรื่อง ความชัดเจนนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม หลังการเปลี่ยนรัฐบาล เกี่ยวกับเงินสนับสนุนการตัดอ้อยสด เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จำนวน 120 บาทต่อตัน และแนวทางการแก้ปัญหาภาวะภัยแล้งที่อาจส่งผลต่อการขาดแคลนน้ำตาล
โดยมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีพื้นที่เกษตรกรทำไร่อ้อย อาทิ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ,นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทยเข้าร่วมรับฟังข้อร้องเรียนด้วย
นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวไร่อ้อยมักถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาไร่อ้อย ทั้งที่จากข้อมูลระบุว่า ฝุ่นขนาดเล็กที่เกิดจากอ้อยไฟไหม้มีอยู่เพียงแค่ไม่ถึง 10% ของฝุ่นที่เกิดขึ้น
ด้านเกษตรกรชาวไร่อ้อย ยืนยันมีความยินดีที่จะช่วยลดปัญหา PM 2.5 โดยเข้าร่วมพันธสัญญาตามนโยบายภาครัฐในการตัดอ้อยสด ที่มีต้นทุนสูง และรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 120 บาทต่อตัน ซึ่งได้ดำเนินการมา 2 ปีแล้ว กระทั่งมาถึงช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐบาลเดิมสู่รัฐบาลใหม่ ทำให้เงินสนับสนุนดังกล่าวถูกชะลอออกไปจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งประเทศที่ได้ลงทุนจ้างการตัดอ้อยสดไปแล้ว
ขณะเดียวกันกำลังจะถึงฤดูการหีบอ้อยใหม่ ประกอบกับภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่อาจจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อเกษตรกร เพราะเกษตรกรต้องเตรียมพร้อมรับมือ ต้องใช้เงินทุน เรื่องเครื่องจักร หรือแรงงาน จึงอยากขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการเรื่องเงินสนับสนุน การช่วยเหลือการตัดอ้อยสดจำนวน 120 บาทต่อตันของฤดูกาลที่ผ่านมาให้ถึงมือเกษตรกรภายในเดือนตุลาคม รวมทั้งขอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการจ่ายเงินสนับสนุนในรอบปีใหม่ด้วย
ด้าน นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ปัญหาเรื่องอ้อย เป็นปัญหาสำคัญที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอดทั้งในรัฐบาล และในสภาผู้แทนราษฎร สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการจ่ายเงินล่าช้า เป็นเพราะติดช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจึงทำให้เกิดล่าช้า โดยอยากชี้แจงว่าเงินสนับสนุน 120 บาทต่อตัน คือการลงทุนของรัฐ รัฐจึงอยากเห็นว่าการตัดอ้อยสดมากขึ้นจริง จนสามารถลดการเผาอ้อยลงได้ จึงอยากจะให้เกษตรกรสื่อสารออกมาว่าการที่รัฐสนับสนุนนั้น ทำให้ลดการเผาได้ตามเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งหากทำได้ก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการสนับสนุนต่อไป โดยสำหรับเงินสนับสนุนของรอบปีที่ผ่านมานโยบาย จะต้องใช้งบประมาณราว 8,000 ล้านบาท ที่ต้องขอวงเงินจากรัฐบาลใหม่ โดยงบประมาณดังกล่าวไม่ผูกพันกับงบประมาณใหม่ ปี 2567 ซึ่งหลังทราบตนและทีมทำงานได้นำปัญหาไปปรึกษากับนายกฤษฎา จินะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังแล้ว เพื่อหาแนวทางในการใช้กรอบวงเงิน ก่อนที่จะนำเข้าหารือ กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในการประชุม ครม.
อย่างไรก็ตาม อาจจะยังไม่ทันเดือนตุลาคม เนื่องจากมีความล่าช้าของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แต่จะพยายามเร่งให้ มีการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะเข้าใจถึงความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยเป็นอย่างดี
“ ดิฉันจึงอยากเรียนให้กับทุกท่านทราบว่าหลังทราบปัญหา ทุกฝ่ายไม่ได้เพิกเฉย และได้ร่วมกันหาแนวทางแก้ ไขปัญหาให้ บางช่วงเวลาอาจจะติดกรอบระยะเวลาที่มีอุปสรรค แต่ขอให้มั่นใจในรัฐบาล และ ข้าราชการ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ตั้งใจทำงานเพื่อเกษตรกรชาวไร่อ้อย อย่างจริงใจ” นางสาวพิมพ์ภัทรากล่าว
ทั้งนี้ หลังจากรับฟังคำชี้แจงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เกษตรกรชาวไร่อ้อย แสดงความพอใจพร้อมกล่าวว่า ถือเป็นความชัดเจน หลังจากที่รอคอยคำตอบมานาน และมั่นใจว่า กระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของ นางสาวพิมพ์ ภัทราวิชัยกุล จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ ก่อนเดินทางกลับไป