สมอ. เตรียมเพิ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า 7 รายการ เป็นสินค้าควบคุม

สมอ. เตรียมบังคับให้เครื่องใช้ไฟฟ้าอีก 7 รายการ เป็นสินค้าควบคุม ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับการดูแลผมหรือผิว เครื่องทอดน้ำมันท่วมและกระทะทอด เครื่องปรับอากาศ ตู้น้ำร้อนน้ำเย็น สวิตซ์ไฟฟ้าในที่อยู่อาศัย ชุดประกอบสวิตซ์เกียร์และเกียร์ควบคุมไฟฟ้า และมอเตอร์ไฟฟ้า ย้ำผู้ผลิต ผู้นำเข้า ต้องยื่นขออนุญาตทำ/นำเข้า ก่อนมีผลบังคับใช้ ในปี 2567-2568

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สมอ. เตรียมประกาศเพิ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าอีก 7 รายการ เป็นสินค้าควบคุม มีผลบังคับใช้ภายในปี 2567-2568 ได้แก่

1) เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับการดูแลผม ขน หรือผิว มอก.60335 เล่ม 2 (23) 2564 ที่มีแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 250 โวลต์ เช่น หวีดัดผม ที่ม้วนผม ตัวเป่ามือ เครื่องอบผิวหน้า และเครื่องดูแลเท้า เป็นต้น โดยเพิ่มข้อกำหนดและ การทดสอบจากมาตรฐานฉบับเดิม คือ การป้องกันการเกิดความร้อน การป้องกันการทำงานผิดปกติ และการแสดงเครื่องหมายและฉลาก ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกรกฎาคม 2567

2) เครื่องทอดน้ำมันท่วม ขนาดไม่เกิน 5 ลิตร และกระทะทอด มอก.60335 เล่ม 2 (13) 2564 ที่ใช้งานในที่พักอาศัย ไม่ครอบคลุมเครื่องทอดน้ำมันท่วมในเชิงพาณิชย์ ได้มีการเพิ่มข้อกำหนดและการทดสอบจากมาตรฐานฉบับเดิม โดยกำหนดขอบข่ายให้ครอบคลุมและจำแนกประเภทให้ชัดเจนมากขึ้น และแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับเครื่องหมายและฉลาก โดยยังคงข้อกำหนดสำคัญที่ควบคุมด้านความปลอดภัย เช่น การควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกินในขณะใช้งาน มีการป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วในขณะที่เครื่องทอดทำงานอยู่ รวมไปถึงการป้องกันการสัมผัสกับส่วนที่มีไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนกรกฎาคม 2567

3) เครื่องปรับอากาศสำหรับห้อง ด้านประสิทธิภาพพลังงาน มอก.2134-2565 โดยมีการแก้ไขขอบข่ายจากมาตรฐานเดิมให้ครอบคลุมและชัดเจนมากขึ้น คือ ระบุขีดความสามารถทำความเย็นทั้งหมดไม่เกิน 18000 วัตต์ แรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 250 โวลต์ สำหรับไฟฟ้าเฟสเดียว แรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 600 โวลต์ สำหรับไฟฟ้าหลายเฟส และครอบคลุมเครื่องปรับอากาศประเภทมีท่อส่งลมที่มีความสามารถทำความเย็นทั้งหมดน้อยกว่า 8000 วัตต์ ที่มีเจตนาให้ทำงานที่ความดันสถิตภายนอกน้อยกว่า 25 ปาสกาล เป็นต้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนมกราคม 2568

4) ตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภคและตู้น้ำเย็นบริโภค เฉพาะด้านความปลอดภัย มอก.2461-25XX ซึ่งมีข้อกำหนดที่สำคัญ คือ การป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่วและความทนทานไฟฟ้าที่อุณหภูมิทำงาน การป้องกันโหลดเกินของหม้อแปลงไฟฟ้าและวงจรที่เกี่ยวข้อง การทนความร้อนและไฟ และการป้องกันการเข้าถึงส่วนที่มีไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐาน IEC ที่เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนมิถุนายน 2567

5) สวิตซ์ไฟฟ้าสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย มอก.824 เล่ม 1-2562 ที่มีแรงดันไฟฟ้าที่กำหนดไม่เกิน 440 โวลต์ สำหรับใช้ในที่อยู่อาศัยทั้งภายในและภายนอกอาคาร ซึ่งมีการแก้ไขจากมาตรฐานเดิม โดยกำหนดขอบข่ายให้ครอบคลุมกล่อง (box) สำหรับสวิตช์ไฟฟ้า และยังครอบคลุมสวิตช์ไฟฟ้าที่มีไฟนำรวมอยู่ (switch incorporating pilot light) สวิตช์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ (electronic switch) สวิตช์ไฟฟ้าควบคุมระยะไกล (RCS) สวิตช์ไฟฟ้าหน่วงเวลา (TDS) (time-delay switch) สวิตช์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบสำหรับใช้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของอาคารบ้านเรือน และสวิตช์ไฟฟ้าของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง (firemen’s switch) เป็นต้น โดยจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนมีนาคม 2567

6) ชุดประกอบสวิตซ์เกียร์และเกียร์ควบคุมไฟฟ้าแรงดันต่ำ เล่ม 3 บอร์ดจ่ายไฟฟ้า มอก.1436 เล่ม 3-2564สำหรับการใช้งานโดยบุคคลทั่วไป ครอบคลุมบอร์ดจ่ายไฟฟ้าที่ใช้งานในที่อยู่อาศัย ซึ่งมีข้อกำหนดที่สำคัญ คือ ความคงทนของวัสดุและชิ้นส่วนประกอบ การป้องกันน้ำและฝุ่น การป้องกันไฟฟ้าช็อต การทำงานร่วมกันของอุปกรณ์ ความต่อเนื่องของวงจร และการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก ขีดจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ความทนการลัดวงจร และความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนมิถุนายน 2567

7) มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ ชนิดเหนี่ยวนำสามเฟส มอก.866 เล่ม 30 (101) -2561 ครอบคลุมมอเตอร์ไฟฟ้าสามเฟส โดยไม่รวมมอเตอร์ที่ประกอบมาในเครื่องจักร ซึ่งมีพิกัดกำลังไฟฟ้า 0.12-15 กิโลวัตต์ มีการแก้ไขข้อกำหนดที่สำคัญจากมาตรฐานฉบับเดิม คือ ให้อ้างอิงการแบ่งระดับชั้นประสิทธิภาพค่าพลังงานตามมาตรฐาน IEC ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนสิงหาคม 2568

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทุกรายทั้งผู้ทำ และผู้นำเข้าสินค้าทั้ง 7 รายการดังกล่าว จะต้องทำ นำเข้าสินค้าที่เป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงผู้จำหน่ายจะต้องขายสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย

“เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการก่อนที่จะมีการบังคับใช้มาตรฐานทั้ง 7 รายการดังกล่าว สมอ. จึงได้จัดการสัมมนาขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม 2566 เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในข้อกำหนดในมาตรฐาน และ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกระบวนการ ขั้นตอนการยื่นขอรับใบอนุญาต ตลอดจนการตรวจติดตามภายหลังการได้รับใบอนุญาต ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ จำนวน 531 ราย” เลขาธิการ สมอ. กล่าว

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password