ออมสินผุดเงินกู้ ดบ.ต่ำสุดรายแรก หวังหนุนอุตฯ-ซัพพลายเชน EV ดันไทยเป็น ศก.อาเซียน
แบงก์ออมสินจับมือสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ออกสินเชื่อ “GSB EV Supply Chain” ดอกเบี้ยต่ำสุดในระบบ 3.745% ต่อปี หนุนผู้ประกอบการยานยนต์ EV และ Supply Chain เข้าถึงแหล่งทุน ผลักดันภาคธุรกิจร่วมสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ รองรับการเป็นแหล่งผลิตศูนย์กลางของอาเซียน ตั้งเป้าอายุโครงการเฟสแรกถึงสิ้นปี 2567 แต่พร้อมขยายอายุโครงการ เหตุเป็นโครงการพิเศษในกลุ่ม Incentive List ที่หวังส่งเสริมสนับสนุนเต็มที่ โดยไร้กรอบวงเงินรวมให้กู้ เผย! เป็นแบงก์แรกที่ปล่อยกู้ในอุตสาหกรรมนี้ พร้อมนำร่องปล่อยกู้ให้ 9 ผู้ประกอบการในโครงการฯ มากกว่า 300 ล้านบาท คาดปิดจ๊อบเฟสแรกปล่อยกู้ 5 พัน – 1 หมื่นล้านบาท
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารฯได้ออกสินเชื่อใหม่ “GSB EV Supply Chain” ภายใต้ความร่วมมือกับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle (EV) และผู้ประกอบการ Supply Chain ของอุตสาหกรรม EVได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนวงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำ 3.745 % ต่อปี (MOR/MLR-3 % ต่อปี) ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 2 ปี และสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการวงเงินมากกว่า 50 ล้านบาท สามารถใช้วงเงินสินเชื่อ “โครงการ GSB For BCG Economy” ได้ โดยไม่จำกัดวงเงินกู้
“ธนาคารออมสินให้ความสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์การใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืน สำหรับสินเชื่อ “GSB EV Supply Chain” ถือเป็นสินเชื่อแรกๆ ของสถาบันการเงินที่มีให้กับผู้ประกอบกลุ่มนี้ โดยคาดหวังให้เป็นฟันเฟืองสำคัญช่วยขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และเคลื่อนที่สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ได้ตามแผนและนโยบายของประเทศ”
โดยที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อเพื่อรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคตามกระแสอนุรักษ์พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ สินเชื่อ GSB Green Home Loan สำหรับผู้บริโภครายย่อยที่มีความต้องการซื้อบ้านประหยัดพลังงาน สินเชื่อ GSB Go Green ตอบสนองผู้ที่ต้องการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดภาระค่าไฟ หรือติดตั้งแผงโซล่าร์ หรือซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และ สินเชื่อ GSB for BCG Economy สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึง สินเชื่อ GSB Green Biz สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น รวมสินเชื่อทั้งหมดมากกว่ากว่า 20,000 ล้านบาท
นายวิทัย ย้ำว่า โครงการสินเชื่อดังกล่าวจะดำเนินการจนถึงสิ้นปีหน้า (2567) แต่ธนาคารฯพร้อมจะขยายระยะเวลาโครงการต่อไป เนื่องจากเป็นโครงการในลักษณะ Incentive List ที่มีเป้าหมายจะให้การส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ดังนั้น ธนาคารฯพร้อมจะให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการและซัพพลายเชนในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะกลุ่มแบตเตอรี่และกลไกการขับเคลื่อนยานยนต์โดยไม่จำกัดวงเงินในโครงการฯ สามารถตอบสนองความต้องการสินเชื่อตามเงื่อนไขโดยไม่มีข้อจำกัด
สำหรับการนำร่องปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ 9 รายใน 3 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย การผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊กๆ ไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้า ที่มีการให้กู้ยืมนั้น เบื้องต้น ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อรวมกันราว 300 ล้านบาท คาดว่ากว่าจะสิ้นสุดโครงการเฟสแรกในปลายปี 2567 น่าจะปล่อยสินเชื่อในโครงการนี้ราว 5,000 – 10,000 ล้านบาท
ด้าน นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวถึงการลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ว่า นับเป็นความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้แก่สมาชิกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนเข้าถึงความรู้ในการจัดการทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs และ Start up เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง
“ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่ภาครัฐได้ประกาศนโยบายสนับสนุนให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 จากการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศภายในปี 2573 และตั้งเป้าในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เดินไปข้างหน้าคือ การระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท กลไกทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต” นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าว
สำหรับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (Electric Vehicle Association of Thailand) เป็นสมาคมที่ไม่เเสวงหาผลกำไร โดยแนวทางของสมาคมมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการเเลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ยังรวมไปถึงการให้คำปรึกษาข้อบังคับมาตรฐาน และการดำเนินงานในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ในปัจจุบันสมาคมมี นายกฤษฎา อุตตโมทย์ ทำหน้าที่นายกสมาคม และมีสมาชิกที่มาจากภาคเอกชน สถาบันศึกษา รัฐวิสาหกิจ และบุคคลทั่วไปรวมทั้งสิ้นกว่า 370 ราย โดยทางสมาคม มีการกำหนดการจัดการประชุม ในทุก ๆ เดือน และมีการเเบ่งคณะทำงานในด้านต่าง ๆ เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารของสมาคมได้ที่ www.evat.or.th.