ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.25 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS เผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.25 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาหก่อนหน้าที่ระดับ 35.07 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.25 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดสัปดาหก่อนหน้า ที่ระดับ 35.07 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ของสัปดาห์ก่อนหน้า รวมถึงคืนวันจันทร์ก่อน (วันหยุดของตลาดการเงินไทย) เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (แกว่งตัวในกรอบ 35.03-35.34 บาทต่อดอลลาร์) กดดันโดยการปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวนและการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มกลับมามองว่า เฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยและการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ หลังตลาดเพิ่มโอกาสเฟดขึ้นดอกเบี้ย
ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่นและจีน รวมถึงจับตารายงานการประชุมล่าสุดของเฟด และติดตาม ความชัดเจนของการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทย
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
- ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนกรกฎาคม โดยบรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่า ยอดค้าปลีก อาจโตกว่า +0.4%m/m หนุนโดย Amazon Prime Day ที่กระตุ้นยอดขายสินค้าออนไลน์ กอปรกับภาพรวมตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นได้ดีในช่วงที่ผ่านมา อาจยังหนุนให้ผู้คนออกมาใช้จ่าย โดยเฉพาะในส่วนของการใช้จ่ายภาคการบริการ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางส่วน (รวมถึงเรา) มองว่า การบริโภคในสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามการชะลอลงของการจ้างงาน, เงินออมส่วนเกิน (Excess Savings) ที่ทยอยหมดลง, ภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นตามการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและการบริโภคสไตล์ “ซื้อก่อน ผ่อนจ่ายทีหลัง” ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้เรายังคงมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น ทำให้เฟดอาจไม่สามารถเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ผ่านรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ซึ่งเราคาดว่า เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ก็อาจยังสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อ แต่ก็อาจระบุว่า เฟดนั้นเข้าใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของการขึ้นดอกเบี้ยได้เช่นกัน
- ฝั่งยุโรป – นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI ของอังกฤษ เดือนกรกฎาคม อาจชะลอลงสู่ระดับ 6.8% จากระดับ 7.9% ในเดือนก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงของราคาพลังงาน รวมถึงมาตรการคุมราคาแก๊สและค่าไฟฟ้า แต่ทว่า อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจชะลอลงเล็กน้อยสู่ระดับ 6.8% (จาก 6.9%) ทำให้เราประเมินว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง อีก 2 ครั้ง ครั้งละ +25bps จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 5.75% ทั้งนี้ ตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษ จากรายงานยอดค้าปลีก เดือนกรฎาคม โดยการใช้จ่ายของครัวเรือนอาจได้รับผลกระทบจากทั้งภาวะเงินเฟ้อสูง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และภาวะอากาศที่แปรปรวนล่าสุด ทำให้ยอดค้าปลีกอาจหดตัว -0.5% จากเดือนก่อนหน้า ชะลอลงจากที่โตกว่า +0.7% ในเดือนก่อน
- ฝั่งเอเชีย –ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญเดือนกรกฎาคม โดยบรรดานักวิเคราะห์ยังคงประเมินว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังคงซบเซาอยู่ กดดันโดยภาคอสังหาฯ ที่ยังคงชะลอตัวลง สะท้อนผ่าน ยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) ที่ขยายตัว +3.7%y/y, YTD ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ส่วนภาพเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอลงก็ยังคงส่งผลให้ ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) โต +4.3%y/y ชะลอลงจากเดือนก่อนเช่นกัน อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจจีนยังคงได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงการท่องเที่ยวช่วงฤดูร้อนมีความคึกคัก ส่งผลให้ ยอดค้าปลีกอาจโต +4.2% ดีขึ้นจาก +3.1% ในเดือนก่อน ทั้งนี้ แม้ว่าภาพเศรษฐกิจจีนอาจยังไม่สดใส แต่ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจยังคงอัตราดอกเบี้ย MLF ไว้ที่ระดับ 2.65% ทว่ามีโอกาสที่ PBOC อาจลดอัตราดอกเบี้ย MLF สู่ระดับ 2.55% ในเดือนกันยายน ซึ่งอาจเป็นช่วงที่ทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจอาจโตกว่า +2.9% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี หนุนโดยการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การบริโภคในประเทศอาจไม่ได้ขยายตัวดีมากนัก จากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อสูง ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของค่าจ้าง ทำให้ แม้ว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ของญี่ปุ่น เดือนกรกฎาคม โดยเฉพาะ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core-Core CPI (ไม่รวมผลของพลังงานและอาหารสด) อาจปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.3% ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็อาจยังไม่มั่นใจต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ จนกว่าการบริโภคในประเทศจะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และ BOJ อาจยังไม่รีบใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น
- ฝั่งไทย – เรามองว่า การจัดตั้งรัฐบาลผสมอาจเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ทำให้แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลงบ้าง อย่างไรก็ดี ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติจะยังมีความผันผวนอยู่ จนกว่าการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเสร็จสิ้น
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า แม้ว่าปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงอยู่ แต่โมเมนตัมการอ่อนค่าเริ่มแผ่วลง โดยหากการจัดตั้งรัฐบาลมีความชัดเจนมากขึ้น เงินบาทก็สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนจากฝั่งตลาดการเงินจีน ที่อาจกดดันให้เงินหยวนอ่อนค่าลง กระทบค่าเงินบาทได้ ในกรณีที่ตลาดปิดรับความเสี่ยง อนึ่ง เราประเมินแนวต้านแรกของเงินบาทแถวโซน 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับแรกจะอยู่ในช่วง 34.90-35.00 บาทต่อดอลลาร์
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นต่อได้ หากตลาดยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หรือตลาดเพิ่มโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด หรือรายงานการประชุมเฟดที่ย้ำจุดยืนเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย
เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองไทยและบรรยากาศในตลาดการเงินโลก ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.75-35.50 บาท/ดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.15-35.35 บาท/ดอลลาร์.