“พท.-ภท.”จับขั้วใหม่ ชู 212 เสียง ตั้งต้นเดินหน้าจัดตั้ง รบ. ไม่มี “ก.ก.”ในสมการ
กลบฝัง 188 เสียง!! ‘พท.-ภท.’ประกาศจับขั้วใหม่ ชู 212 เสียงตั้งต้นเดินหน้าจัดตั้ง รบ. โดยไม่มี “ก้าวไกล” อยู่ในสมการ ประเดิมงานแรก เร่งแก้ รธน.
วันที่ 7 ส.ค.2566 เวลา 16.30 น.ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ได้ร่วมแถลงการจัดตั้งรัฐบาล
โดยนายอนุทิน กล่าวว่า หลังการหารือกันเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน พรรคภูมิใจไทยไม่ขัดข้องที่จะร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย โดยมี 3 เงื่อนไข 1.ไม่แตะ ม.112 2.ไม่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และ 3.ไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาล ซึ่งวันนี้ทราบจากพรรคเพื่อไทยแล้วว่า พรรคเพื่อไทยก็เห็นพ้องไปในทางเดียวกัน ดังนั้นเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการบริหารประเทศเดินหน้าไปโดยมีปัญหาน้อยที่สุด ดังนั้นถ้ายังไม่มีการเชิญพรรคอื่นมาหารือ ก็ให้ถือว่าวันนี้มี 212 เสียงเลย คือพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย เพื่อที่เมื่อไปหารือกับพรรคอื่นๆ จะได้มีความมั่นใจ ว่าขั้วนี้จะสามารถตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งในเบื้องต้น พรรคเพื่อไทยก็รายงานว่า มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรแน่นนอน และหากได้สัญญาณที่แน่นอนแล้ว จะร่วมกับการหาเสียงสนับสนุน ทั้งจาก สส. และ สว. ส่วนการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯ พรรคภูมิใจไทยก็จะทำตามข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย ในการเสนอชื่อในวัน-เวลา ที่ประธานสภาฯ เป็นผู้กำหนด
ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยต้องขอบคุณพรรคภูมิใจไทยในการตอบรับเชิญร่วมรัฐบาล เพื่อแก้ไขวิกฤติ โดยเรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นเดดล็อก ทำให้เป็นเรื่องยากในการทำงานเพื่อประชาชน ส่วนเงื่อนไขที่ภูมิใจไทยเสนอมา 3 ข้อ เพื่อไทยรับได้ และขอบคุณกับคำว่า 212 เสียง ถือว่าเป็นเสียงตั้งต้นที่ค่อนข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล ประเด็นที่คนสงสัย เช่น 188 เสียง ก็จะตกไป
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย จะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลด้วยการสนับสนุนจากพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้เกินกึ่งหนึ่งแล้ว แต่ยังต้องการเสียงจากทั้ง สส. และ สว. เพื่อให้จัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว เราต้องการการสนับสนุนจากทุกฝ่าย เพราะยิ่งประวิงเวลาออกไปจะยิ่งสร้างความเสียหายมากขึ้น แต่ยิ่งตั้งรัฐบาลโดยเร็วเท่าไรก็แก้ปัญหาให้ประชาชนได้เร็วเท่านั้น จากวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤตืรัฐธรรมนูญ จึงต้องการเสียงสนับสนุนจากทุกพรรคการเมือง และหากฝ่ายค้านเสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์ก็พร้อมสนับสนุน และเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านตรวจสอบ
โดยการจัดตั้งรัฐบาล จะมีวาระดังนี้
1.ยึดวาระประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง เร่งฟื้นฟู ศก. และประชาธิปไตย นำความปรองดองสมานฉันท์กลับสู่ประเทศ
2.เร่งแก้ไข รธน. โดยการประชุม ครม. วาระแรก จะขอทำประชามติจัดทำ รธน. ฉบับใหม่ โดยการตั้ง สสร.
3.ทำงานการเมืองสร้างสรรค์ สิ่งใดเป็นประโยชน์ร่วมกันผลักดัน ปัญหาต้องถูกตรวจสอบและแก้ไข
4.จัดตั้งมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้
5.เปิดโอกาสให้ สส. และ สว. มีส่วนร่วมอย่างสำคัญ เลือกนายกฯ เพื่อผ่าทางตัน รธน. ที่สร้างปัญหาในปัจจุบัน
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า หลังจากนี้จะทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนในสังคม ทั้ง สส. สว. เพื่อแสวงหาความร่วมมือและกำหนดเจตนารมณ์ในการบริหารประเทศ จึงขอความร่วมมือจากทุกคนมาร่วมกอบกู้ประเทศในครั้งนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ช่วงที่มีการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ซึ่งบางช่วงพรรคเพื่อไทยมีการใช้ถ้อยคำ “ไล่หนูตีงูเห่า” นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย บางครั้งอาจมีเรื่องกระทบกระทั่งกัน แต่นั่นเป็นเพียงการณรรงค์เพื่อให้ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเท่านั้น คือจัดกิจกรรมขึ้นโดยวัตถุประสงค์ในขณะนั้น แต่ในมิติทางการเมือง พรรคเพื่อไทยไม่เคยประกาศเป็นศัตรูกับใคร
“เราเป็นคู่แข่งกันจริง เทคนิควิธีการหาเสียงต่างฝ่ายต่างมี แต่เรียนด้วยความเคารพ เราไม่เคยคิดว่าเป็นศัตรูกัน โดยเฉพาะเพื่อไทยไม่เคยคิดเป็นศัตรูกับใคร แต่ทุกพรรคเป็นคู่แข่งทางการเมืองกัน หลังจากที่ยุติจากการมอบอำนาจในวันเลือกตั้ง พี่น้องประชาชนตัดสินใจแล้วว่ามอบอำนาจให้ใคร หลังจากนั้นเราก็มาทำหน้าที่ตามที่รับมอบอำนาจ และนั่นคือภารกิจที่เราต้องทำ ถ้าร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเป็นรัฐบาลของประชาชนได้ก็ร่วมกันทำ ถ้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็มาเป็นฝ่ายตรวจสอบคือฝ่ายค้าน มิติทางการเมืองเป็นอย่างนี้” นพ.ชลน่าน กล่าว.