ไทยร่วมมือ สปป.ลาว จ่อเปิดใช้สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) เชื่อมโยงระบบรางในภูมิภาค
NEDA ผนึกกรมรถไฟ สปป.ลาว นำคณะผู้บริหารฯและจนท. พร้อมสื่อมวลชนไทย ศึกษาดูงานและเยี่ยมชมสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) สปป.ลาว เผย! แผนงานก่อสร้างเส้นทาง (ท่านาแล้ง – เวียงจันทน์) ระยะที่ 2 แล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการปลายปี หลังดึง รฟท. จัดฝึกอบรม 10 คนขับรถไฟของลาวใน 5 สัปดาห์จากนี้ ด้าน “ผอ.พีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์” มั่นใจ! เส้นทางรถไฟสายแรกของลาว จะหนุนนโยบายการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในอนุภูมิภาค พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ
นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือNEDA เปิดเผยถึงการร่วมกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรในเส้นทางหลวงพระบาง-เวียงจันทน์ สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 3-5 ส.ค.2566 ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง NEDA กับ กรมรถไฟ กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว นำสื่อมวลชนไทยเดินทางศึกษาดูงานและเยี่ยมชมสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) สปป.ลาว เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการดำเนินโครงการเชื่อมโยงด้านระบบรางในภูมิภาค
ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะที่ 2 ส่วนที่ 2 (รถไฟไทย-ลาว) หรือ “สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) สปป.ลาว” เป็นการขยายระบบคมนาคมขนส่งทางรางของ สปป.ลาว ต่อเนื่องจากระยะแรกของเส้นทาง (หนองคาย – ท่านาแล้ง) และเส้นทาง (ท่านาแล้ง – เวียงจันทน์) ระยะที่ 2 ส่วนที่ 1 คือ งานก่อสร้างย่านกองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ (Container Yard) เป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาทางรถไฟแห่งชาติลาว (National Railway Development Strategy) ที่ต้องการพัฒนาการขนส่งสินค้าในปริมาณมากทางราง เชื่อมโยงระหว่างประเทศไทย กับ สปป.ลาว งานก่อสร้างอาคารสำนักงานกรมรถไฟ และอาคารที่พักเจ้าหน้าที่ ทำให้กรมรถไฟมีความเป็นระบบระเบียบมากขึ้น รองรับการขยายตัวของสำนักงานกรมรถไฟ
สำหรับ งานก่อสร้างทางรถไฟสายท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ระยะที่ 2 ส่วนที่ 2 มีขอบเขตในการพัฒนางานก่อสร้างระบบรางรถไฟหลัก เริ่มจากสถานีท่านาแล้งถึงสถานีเวียงจันทน์ระยะทาง 7.50 กิโลเมตร งานระบบอาณัติสัญญาณ บ้านพักเจ้าหน้าที่ ทางเข้าสถานีเวียงจันทน์ งานจุดตัดทางรถไฟ และงานก่อสร้างสถานีเวียงจันทน์ หรือที่ใช้เรียกกันว่า “สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) สปป.ลาว” โดยสถานีรถไฟสายนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมรถไฟ กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว
(Lao Railway Authority, Ministry of Public Works and Transport (MPWT)) ได้รับเงินกู้สนับสนุนจากรัฐบาลไทย ผ่าน NEDA
ทั้งนี้ สถานีรถไฟดังกล่าวถูกออกแบบเพื่อขนส่งผู้โดยสารและสินค้าด้วยระบบรางขนาด 1 เมตร และเป็นสถานีรถไฟแห่งที่ 2 ในเส้นทาง โครงข่ายทางรถไฟไทย-ลาว ตั้งอยู่ที่บ้านคำสะหวาด เมืองไซเสดถา ห่างขึ้นไปทางทิศเหนืออยู่ห่างจากท่าบกท่านาแล้งเพียง 7.5 กิโลเมตร และเชื่อมโยงถึงกันด้วยรางรถไฟขนาด 1 เมตร ที่มาจากจังหวัดหนองคาย ซึ่งเป็นสถานีรถไฟขนาด 2 ชั้น 2 ชานชาลา โดยชั้น 1 มีพื้นที่ 6,300 ตารางเมตร และชั้น 2 มีพื้นที่ 3,600 ตารางเมตร มีพื้นที่ชานชาลาอีก 3,600 ตารางเมตร ขนาดรางกว้าง 1 เมตร ได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ และพร้อมจะเปิดให้บริการ
การก่อสร้างสถานีรถไฟเวียงจันทน์บ้านคำสะหวาด เริ่มต้นเมื่อปี 2562 ใช้งบประมาณก่อสร้างรวม 994.68 ล้านบาท และคาดว่าพิธีเปิดสถานีรถไฟเวียงจันทน์บ้านคำสะหวาดจะจัดขึ้นในช่วงการประชุมความร่วมมือ “อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง” หรือ ACMECS ครั้งที่ 10 ซึ่ง สปป.ลาว จะเป็นเจ้าภาพในโอกาสต่อไป
ผอ.NEDA กล่าวว่า“สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) สปป.ลาว” สนับสนุนนโยบายการเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศในอนุภูมิภาค (Connectivity) โดยพัฒนาการคมนาคมขนส่งระบบรางเชื่อมโยงระหว่างทยกับ สปป.ลาว (สายกรุงเทพฯ-นครเวียงจันทน์) ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของทั้ง 2 ประเทศ นอกจากนี้ การก่อสร้างทางรถไฟสามารถเชื่อมไปยังประเทศที่สาม ได้แก่ จีนและเวียดนาม ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับอิทธิพลในการค้าขายกับประเทศที่สามไปด้วย สามารถลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้า เกิดการลงทุนต่อเนื่อง และสร้างโอกาสให้ภาคเอกชนไทยไปประกอบธุรกิจใน สปป.ลาว เช่น การรับสัมปทานบริหารจัดการ CY และบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีเวียงจันทน์ พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการจ้างงานและใช้สินค้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจากไทยมากยิ่งขึ้น เกิดประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยและชาวลาว รวมไปยังประชาชนที่อยู่แถบภูมิภาคนี้
นอกจากจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางการเงินในประเทศแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะในเวลานี้นครหลวงเวียงจันทน์ กลายเป็นเป้าหมายหลักของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ คึกคักไปด้วยผู้คนจำนวนมาก เวียงจันทน์ได้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญในการขนส่ง ทั้งการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศ และการขนส่งสินค้าทางรางด้วยระบบคมนาคมเชื่อมไทย-อาเซียน-จีน รวมถึง โครงการดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงการเดินทางไปยังจีนผ่านทางรถไฟความเร็วสูงสายเวียงจันทน์ (สปป.ลาว) – บ่อเต็น (จีน) เพื่อรองรับผู้โดยสารเป็นหลัก หรือ เพื่อการขนส่งสินค้าระหว่างเมืองและระหว่างประเทศ นับเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนและการขนส่งสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีระยะเวลาสั้น เพิ่มทางเลือกในการเดินทางการขนส่ง ประหยัดเวลาและค่าโดยสาร เกิดการกระจายรายได้สู่ประชาชนในระดับรากหญ้า
“โครงการดังกล่าว เป็นการสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านระบบรางในภูมิภาค และส่งเสริมให้การขนส่งมีความสะดวกมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในเขตพื้นที่โครงการ โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดีของคนไทยและประเทศไทย ในการเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ สร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจและการคมนาคม เพื่อก้าวสู่ความเจริญต่อไป” นายพีรเมศร์ กล่าวสรุป
ด้าน ผู้บริหารการรถไฟแห่งชาติลาว (LNR) กล่าวว่า ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีพิธีเปิดใช้บริการ สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) อย่างเป็นทางการได้เมื่อใด เนื่องจากกฎหมายของ สปป.ลาว กำหนดไว้ชัดเจน ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติขับขบวนรถไฟใน สปป.ลาว สอดรับกับบันทึกข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศ จึงจำเป็นจะต้องจัดส่งเจ้าหน้าที่ของการรถไฟลาวประมาณ 10 คน เข้ารับการฝึกอบรมจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งขณะนี้ ทาง NEDA ได้ประสานเพื่อจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปฝึกอบรมในประเทศไทยแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 สัปดาห์ จากนั้น เจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมฯจึงจะสามารถทำการควบคุมการขับขบวนรถไฟจากบ้านท่านาแล้งมายังสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด)
“เบื้องต้น หากเจ้าหน้าที่ของการรถไฟลาวผ่านการฝึกอบรมจากประเทศไทยแล้วเสร็จ การจะเปิดเส้นทางวิ่งภายใน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการและเป็นครั้งแรกก็จะเริ่มขึ้นในทันที คาดว่าปลายปีนี้ จะสามารถทำการวิ่งรถไฟไทย-ลาวได้ ส่วนในอนาคต การจะเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยขับขบวนรถไฟภายในดินแดน สปป.ลาวได้นั้น จำเป็นจะต้องแก้ไขข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวอาจใช้เวลาดำเนินการยาวนานเกือบปี โดยหากฝ่ายไทยเห็นถึงความจำเป็นดังกล่าว ก็จะต้องจัดทำโครงการแก้ไขข้อตกร่วมกันใหม่” ผู้บริหารการรถไฟแห่งชาติลาว ระบุ
นอกจากนี้ ฝ่าย การรถไฟแห่งชาติลาว ยังเห็นพ้องให้ทาง NEDA ช่วยจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจภายในบริเวณ สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) และบริเวณรายรอบ คู่ขนานไปกับการเปิดเส้นทางในระบบรางแห่งนี้ เบื้องต้น มีข้อเสนอแนะจาก NEDA ถึงเหตุผลและความจำเป็นในการดึงเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ของ สปป.ลาว รวมถึงหน่วยงานราชการอื่นๆ เข้ามาใช้พื้นที่ของสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) เนื่องจากการขนส่งระบบรางของที่นี้จะเน้นขนส่งคนเป็นหลัก ส่วนการขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกนั้น จะยังใช้พื้นที่ของสถานีรถไฟท่านาแล้งต่อไป
ทั้งนี้ ในพื้นที่สถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) ควรจะมีการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อทำธุรกิจและการค้าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสนใจของภาคเอกชนและการเปิดใช้พื้นที่ของสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) เอง โดยหากเป้าหมายที่คาดว่าจะมีผู้เข้าใช้บริการแต่ละวันที่ไม่ต่ำกว่า 3,500 คน/เที่ยวแล้ว ก็จะเป็นอีกจุดสนใจของการเข้ามาลงทุนเช่าพื้นที่ของเอกชน เนื่องจากห่างจากสถานีรถไฟท่านาแล้งเพียง 7.5 กม. และห่างจากสถานีรถไฟความเร็วสูง “จีน – ลาว” ไม่ถึง 10 กม. ซึ่งตามแผนงานก็จะมีการสร้างระบบขนส่งผู้โดยสาร (รถบัสหรือรถตู้) รองรับการเดินทางไป – มา ระหว่างสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) กับสถานีรถไฟความเร็วสูง “จีน – ลาว” อยู่แล้ว.