ฉีกขั้ว 2 พรรคลุง! “อนุทิน” ลั่นไม่มี สัญญาใจผูกมัด กาง “2 เงื่อนไข” ร่วมรัฐบาล
‘อนุทิน’เผย‘เพื่อไทย’แจ้งเลื่อนถกคุยตั้งรัฐบาลไปก่อน ย้ำเงื่อนไขร่วมรัฐบาลมีแค่ไม่แตะ ม.112-ไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อย บอก เป็นหน้าที่‘เพื่อไทย’รวมให้ได้ 375 เสียง แจงไม่มีสัญญาใจต้องแพ็กกันไปกับพรรค 2 ลุง ดัก สว. สิ่งที่กังวลได้รับการแก้ไขแล้ว รับอยากให้มีรัฐบาลเร็วๆ หลังค้างมาเกือบ 3 เดือน ระบุ เป็นหน้าที่ ‘เพื่อไทย-เศรษฐา’ เคลียร์ปมเคยหาเสียงแก้ม.112
วันที่ 3 ส.ค.2566 เวลา 13.20 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประธานรัฐสภาเลื่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีออกไปก่อน เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญประเด็นการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำ ว่า ทางประธานรัฐสภาคงอยากให้ทุกอย่างมีความชัดเจนจะได้ไม่ต้องมีปัญหาในภายภาคหน้า จึงสั่งการให้มีการเลื่อนญัตติการเลือกนายกฯไปก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนจะมีการเลื่อนโหวตนายกฯ ทาง ภท.ได้มีการถูกทาบทามร่วมรัฐบาลจากพรรคเพื่อไทย (พท.) อย่างเป็นทางการหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรามีการนัดพูดคุยกัน แต่ยังไม่ได้ทราบว่าจะคุยแล้วผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร แต่เมื่อมีการเลื่อนโหวตนายกฯ ที่นัดเอาไว้บ่ายวันนี้ จึงมีการยกเลิกนัดแล้วเลื่อนออกไปก่อน โดยทาง พท.ได้โทรศัพท์ประสานงานเพื่อแจ้งว่าที่นัดกันไว้นั้นขอเลื่อนออกไปก่อน
เมื่อถามว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าการโหวตนายกฯ จะเกิดความไม่ราบรื่นอีกหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกคนอยากให้มีความชัดเจน พอมีการยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความในเรื่องต่างๆ เพื่อความชัดเจน เขาจึงอยากให้มีการชี้ขาดออกมาเสียก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ต่อไป
เมื่อถามว่า ถือว่าดีหรือไม่ เพราะจะได้เปิดโอกาสให้ พท.มีเวลาในการเจรจากับพรรคต่างๆ นายอนุทิน กล่าวว่า จะถือว่าดีไม่ได้ เพราะรัฐบาลใหม่ควรจะได้รับการจัดตั้งโดยเร็ว เลือกตั้งมาจะครบ 3 เดือนอยู่แล้ว และรัฐบาลรักษาการก็ทำอะไรไม่ได้ถึงแม้ว่าจะมีอำนาจเต็ม ดังนั้น จึงอยากให้มีรัฐบาลอย่างเป็นทางการได้เข้ามาทำงานให้เร็วที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทาง ภท.ยังมีคำถามและสงสัยอะไรในตัวนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯของ พท.อยู่หรือไม่ เพราะทางนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ออกมาแฉข้อมูลเรื่องต่างๆ นายอนุทิน กล่าวว่า ภท.ได้แจ้งพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไปแล้วว่าเรามีแนวทางอย่างไร เป็นไปตามที่ ภท.มีแถลงการณ์ไปแล้วคือ ต้องไม่แตะต้อง ไม่แก้ไขมาตรา 112 ไม่จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย และไม่สามารถทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้ ส่วนเรื่องของพรรคอื่น เราไปยุ่งหรือไปก้าวล่วงอะไรไม่ได้ ภท.มีกรอบอยู่แค่นี้ ถ้าเขายังอยู่ในกรอบก็ต้องเป็นเรื่องของพรรคใครพรรคมัน
เมื่อถามย้ำว่า ขณะนี้มีการเผยแพร่คลิปที่นายเศรษฐา เคยระบุตอนหาเสียงว่าจะแก้ไขมาตรา 112 ออกมาเช่นกัน นายอนุทิน กล่าวว่า คงต้องฟังนายเศรษฐาและ พท.ชี้แจง สิ่งนี้ตนไม่อยากให้ผู้สื่อข่าวไปจี้ไปไชอะไรมากนัก เพราะเวลาหาเสียง บางทีการพูดอะไรก็เป็นไปตามสถานการณ์ในห้วงเวลานั้นๆ
เมื่อถามว่า ภท.มีเงื่อนไขหรือไม่ว่า ก่อนจะตกลงเข้าร่วมรัฐบาลกับใคร แคนดิเดตนายกฯของพรรคนั้นๆ จะต้องมีหลักประกันว่าได้เสียงถึง 375 เสียง นายอนุทิน กล่าวว่า ตรงนั้นเป็นหลักประกันไม่ได้ ใครจะมาประกันได้ ทุกคนต้องช่วยๆ กัน ภท.มีเงื่อนไขหลักตามที่แถลงการณ์ของพรรคไปแล้ว
เมื่อถามว่า หากการร่วมรัฐบาลกับ พท. โดยไม่มีพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทาง ภท.ยอมรับได้หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ข้อจำกัดมีแค่ในแถลงการณ์ของ ภท. เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลเราจะต้องไม่ไปก้าวก่ายพรรคแกนนำ
เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าไม่มีสัญญาใจกับพรรค 2 ลุงใช่หรือไม่ว่า ถ้าจะไปไหน ต้องไปด้วยกัน นายอนุทิน กล่าวว่า การแพ็กกับขั้วเดิมตอนนี้มันเป็นเสียงข้างน้อย ซึ่ง ภท.บอกแล้วว่าเราไม่จัดรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะอยากให้รัฐบาลมีความมั่นคง ซึ่งรัฐบาลที่มีความมั่นคงคือ รัฐบาลเสียงข้างมาก
เมื่อถามอีกว่า ถ้าจะไปคือ ไปทั้ง 3 พรรค ทั้ง ภท. รทสช. และ พปชร. ใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า อย่างนั้นคงไม่ได้ แต่ละพรรคต้องมีแนวทางของตัวเอง จูงมือกันไปก็คงไม่ได้ เพราะไม่เคยเห็นว่าพรรคใหญ่ๆ มีใครเขาทำกัน
เมื่อถามว่า แต่มีเสียงวิจารณ์ว่า ถ้าไม่มี รทสช.และพปชร. ก็จะฝ่าด่าน สว.ได้ยาก นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นสิทธิของพรรคที่เป็นแกนนำที่จะต้องไปเคลียร์ และไปทำความเข้าใจ ซึ่ง สว.บอกมาเหมือนกันว่า คราวที่แล้วที่ สว.ไม่สามารถโหวตให้ได้เพราะอะไร รวมถึงเหตุผลที่เป็นกังวลของ สว.ได้ถูกแก้ไขแล้ว ดังนั้น ก็ต้องเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะที่ ภท.เป็นพรรคอันดับ 3 หากเกิดปัญหาขึ้นจริง พร้อมหรือไม่ที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายอนุทิน กล่าวปนหัวเราะว่า อย่าให้มีปัญหาดีกว่า เราเป็นพรรคอันดับ 3 ถ้าเราสนับสนุนให้มีรัฐบาลโดยเร็วได้โดยไม่ขัดกับแนวทางหรือนโยบายของ ภท. เราก็พร้อมให้การสนับสนุน เพราะประเทศต้องมีรัฐบาล.