“วีริศ” ผุดไอเดีย ใช้ AI มอนิเตอร์การทำงานในนิคมอุตสาหกรรม
“วีริศ” ผุดไอเดีย นำระบบ AI มอนิเตอร์การทำงานของอุปกรณ์-เครื่องจักร ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม เพื่อวางแผนการซ่อมบำรุงอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนความสูญเสียจากความผิดปกติของเครื่องจักร เล็งต่อยอดระบบ “Digital Twin” ที่นำร่องในนิคมฯ สมุทรสาคร ในนิคมฯ ของ กนอ.
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรม และโรงงาน ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกลุ่มมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จังหวัดระยอง เริ่มที่นิคมอุตสาหกรรม อาร์ ไอ แอล ซึ่งนิคมฯ แห่งนี้ประกอบกิจการมาตั้งแต่ปี 2539 บนพื้นที่ 2,000 ไร่ โดยอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย และได้รับการตรวจประเมินเป็นนิคมอุตสาหกรรมระดับ Eco World Class ตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ (Environment and Health Impact Assessment : EHIA) เพื่อขยายพื้นที่ในนิคมฯ ประมาณ 500 ไร่ ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนแสดงความสนใจเข้าจับจองพื้นที่แล้ว
“ผมมีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชม บริษัท มาบตาพุดโอเลฟินส์ จํากัด หรือ MOC ซึ่งได้บรรยายภาพรวมการนำเทคโนโลยีมาใช้ด้านความปลอดภัย และติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้เดินทางไปยัง บริษัท ระยองวิศวกรรมและซ่อมบำรุง จำกัด (REPCO NEX Industrial Solutions) ซึ่งบริษัทแห่งนี้พัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี โดยใช้ AI ช่วยในการตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อวางแผนการซ่อมบำรุงที่มีประสิทธิภาพ และการลดต้นทุนที่เกิดความสูญเสียจากความผิดปกติของเครื่องจักร จนเกิดเป็นธุรกิจใหม่ สำหรับการนำระบบ AI มาช่วยในการทำงานของโรงงานแห่งนี้ เป็นสิ่งที่ กนอ. ให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากสอดคล้องกับระบบ Digital Twin ที่ กนอ. เริ่มนำร่องใช้ในการบริหารงานที่นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ตั้งแต่กลางปี 2565 ซึ่งโครงการแล้วเสร็จเมื่อมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา และจะนำไปขยายผลในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ต่อไป” นายวีริศ กล่าว
ทั้งนี้ ระบบ Digital Twin คือ การทำแบบจำลองเสมือนของพื้นที่อาคาร และอุปกรณ์ในอาคาร ในรูปแบบ 3 มิติ BIM (Building Information Modelling) ซึ่งนอกจากจะเก็บข้อมูลทรัพย์สินและอุปกรณ์ต่างๆ ในรูปแบบดิจิทัลแล้ว ยังเชื่อมโยงข้อมูล Big Data ต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมระบบระบายน้ำการติดตามตรวจสอบมลพิษทางอากาศของนิคมฯ การเชื่อมโยงข้อมูลผู้ประกอบการจากระบบอนุมัติ-อนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-PP : e-Permission Privilege) ข้อมูลการระงับเหตุจากระบบฐานข้อมูลการระงับเหตุ(Decision Support System : DSS) ข้อมูลการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ข้อมูลการระบายมลพิษจากระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (CEMS : Continuous Emission Monitoring System) ข้อมูลด้านความปลอดภัยกระบวนการผลิตและสารเคมีอันตรายจากระบบการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management: PSM)
ตลอดจนการเชื่อมโยงระบบที่เกี่ยวข้องกับ SMART I.E. ด้วย โดยใช้ AI เป็นตัวประมวลผล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม ด้วยการใช้ข้อมูลที่มีความถูกต้องแม่นยำ ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการ นิคมอุตสาหกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา
นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรม i2P Center ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยจากทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเคมิคอล ซึ่งสามารถเป็นทั้งศูนย์การเรียนรู้ บ่มเพาะนักธุรกิจ ต่อยอดไอเดียอันหลากหลายซึ่งกันและกันระหว่างลูกค้าที่เป็นเจ้าของกิจการ (Business Owner) กับบริษัทฯ นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด ในส่วนนี้ กนอ.มีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่อาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่เป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (Incubation Center) โดยร่วมกับเครือข่ายสถาบัน กนอ. ในการนำความรู้และนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้และพัฒนาเพื่อผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมอย่างแท้จริงด้วย