กกพ.จับมือ ทบ. ติดตั้ง “โซลาร์เซลล์” ให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารบก
“สำนักงาน กกพ.” จับมือ ทบ. สนับสนุนงบประมาณติดตั้ง “โซลาร์เซลล์” ให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารบก มอบเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ากว่า 49.95 ล้านบาท ติดตั้ง “โซลาร์เซลล์” 1.66 เมกะวัตต์ ให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารบก จำนวน 16 แห่ง วางเป้าลดค่าไฟฟ้ากว่าปีละ 10 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และกองทัพบก (ทบ.) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการดำเนินงานในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารบก (MoU) โดยนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. และกองทัพบก โดยพลตรีไวพจน์ พันธุ เจ้ากรมยุทธโยธาทหารบก ซึ่งมีนายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พร้อมด้วย นายนฤมิตร สว่างผล ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงาน กกพ. และพลตรีเกษม ภิญโญชนม์ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามฯ
ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กกพ. และกองทัพบก ในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับโรงพยาบาล ในสังกัดกรมแพทย์ทหารบก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาล
โดยในระยะที่ 1 สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างพิจารณาสนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารบก จำนวน 16 โรงพยาบาล งบประมาณรวม 49.95 ล้านบาท ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1.66 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 1,429 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และคาดว่าจะลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารบกได้ปีละ 10 ล้านบาท
นายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา ประธานในพิธีกล่าวว่าในช่วงปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมานับเป็นช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่สำคัญในการดำเนินการตามแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภาย (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 ซึ่งประเทศไทยจะต้องเตรียมการรองรับการปรับตัวรวมถึงมาตรการระหว่างประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นมาตรการหนึ่งตามแผนพัฒนาการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งกำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 8,740 เมกะวัตต์ ในปี พ.ศ. 2580
ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กกพ. และกองทัพบก ในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จึงเป็นการดำเนินการที่มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนและเป้าหมาย
ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
พลตรีไวพจน์ พันธุ เจ้ากรมยุทธโยธาทหารบก กล่าวว่า กองทัพบกนอกจากมีหน้าที่ต้องรักษาอธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เพื่อดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของรัฐ แล้วยังมีภารกิจในการดูแลและให้บริการด้านสาธารณสุขกับประชาชน โดยกองทัพบก ได้เล็งเห็นความสำคัญถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประชาชน โดยได้ออกมาตรการที่สอดคล้องกับนโยบายประหยัดพลังงาน และการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือก เพื่อลดรายจ่ายด้านงบประมาณของประเทศ
ซึ่งที่ผ่านมากองทัพบกได้มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันมาจากกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การใช้พลังงานในอาคาร ภาคขนส่ง และการปฏิบัติงานของหน่วยทหาร เป็นต้น ซึ่งโรงพยาบาลเป็นหนึ่งในประเภทอาคารที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าสูง และใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับให้บริการทางการแพทย์ แก่กำลังพล ครอบครัว และประชาชน ประกอบด้วย การส่งเสริมสุขภาพ และเวชกรรมป้องกันการบริการแพทย์ในที่ตั้ง และการบริการแพทย์ในสนาม
โดยการส่งเสริมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งเป็นวิกฤติการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ตลอดจนการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชนของโรงพยาบาลในสังกัดกรมแพทย์ทหารบกต่อไป