คลังแจงเศรษฐกิจไทยดีต่อเนื่องจากความเชื่อมั่นของเอกเชนที่เพิ่ม 8 เดือนติดต่อกัน
“โฆษกคลัง” ฉายภาพเศรษฐกิจการคลังของไทย ช่วง ม.ค.2566 โตต่อเนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น เผย! แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2566 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2566 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบ 26 เดือน ในขณะที่แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดย การบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 10.1 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 2.1 ในขณะที่ ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ –2.1 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 32.3 สำหรับ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.7 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 0.9 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเดือนมกราคม 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 51.7 จากระดับ 49.7 ในเดือนก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และสูงสุดในรอบ 26 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนมกราคม 2566 ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ –0.5
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดย การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในเดือนมกราคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ –7.3 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 6.6 สำหรับ การลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนมกราคม 2566 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ –5.6 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 0.5 ขณะที่ ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.5 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ –5.3
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดย ภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนมกราคม 2566 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 2.7 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ อาทิ ยางพารา ข้าวโพด และผลผลิตในหมวดไม้ผล เป็นต้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมกราคม 2566 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 93.9 จากระดับ 92.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยองค์ประกอบที่สำคัญของดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สอดคล้องกับการขยายตัวของการบริโภคสินค้าในหมวดสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงการท่องเที่ยวภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี และแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าลดลงต่อเนื่อง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 5.02 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.04 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 60.7 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 0.55 ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2566 อยู่ในระดับสูงที่ 225.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ.