ระวังกันเองนะจ๊ะ! ปมถูกหลอกดูดเงินจากบัญชี – แบงก์ไม่รับผิดชอบ
“คลัง-สมาคมแบงก์” ประสานเสียงอย่าหลงเชื่อแก๊งมิจฉาชีพหลอกดูดเงินจากบัญชี ระบุ! หากเป็นความเสียหายจากบริการของแบงก์จึงจะรับผิดชอบ แต่ถ้าเป็นความพลั้งเผลอของประชาชน ต้องรับผิดชอบกันเอง
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงกระแสข่าวที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะประเด็นที่ภาคประชาชนถูกกลุ่มมิจฉาชีพใช้สารพัดกลวิธีหลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ ดูดเงินออกจากบัญชีธนาคาร ว่า เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายกำลังเป็นห่วง ซึ่งกระทรวงการคลังได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รวมถึงสมาคมธนาคารไทยและสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (สงร.) มาโดยตลอด เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ ธปท.ได้กำชับให้ระวังและเตือนไปยังลูกค้าของตัวเองแล้ว ขณะที่ สงร. ทางกระทรวงการคลังก็ได้สั่งให้ระมัดระวังในเรื่องเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม กับปัญหาที่เกิดขึ้น หากเป็นความเสียหายอันเกิดจากการให้บริการของธนาคารแล้ว ทางธนาคารก็พร้อมจะรับผิดชอบต่อจำนวนเงินที่สูญหาย แต่หากเป็นความผิดพลาดของประชาชน ที่ไม่ระมัดระวังและหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพ จนเกิดความเสียหายตามมาแล้ว ผู้เสียหายจะต้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันและนำหลักฐานมาแสดงกับทางแบงก์ต้นสังกัด ซึ่งทางแบงก์พร้อมจะให้ความช่วยเหลือเท่าที่กฎหมายจะเปิดช่องให้ทำได้อยู่แล้ว
“ทุกวันนี้พบว่ามีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเฉลี่ยราว 800 คดีต่อวัน ซึ่งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามแจ้งเตือนไปยังประชาชนว่าอย่าได้หลงเชื่อกับขบวนการเหล่านี้ ที่มักจะส่งเป็นข้อความแปลกๆ มาหลอกลวง ซึ่งถ้าประชาชนไม่หลงกลกับกลวิธีหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพแล้ว ปัญหาก็คงไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว ก็ต้องลงไปดูว่ามันเกิดจากจุดไหนและจะแก้ไขเพื่อบรรเทาความเสียหารอย่างไร” รมว.คลัง ย้ำ
ด้าน นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวเสริมว่า ทุกวันนี้ มาตรฐานของโมบายแบงกิ้งที่ธนาคารพาณิชย์นำมาใช้นั้น ถือว่ามีความปลอดภัยตามมาตรฐานโลกอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การที่กลุ่มมิจฉาชีพพยายามหาช่องทางเพื่อหลอกลวงประชาชนนั้น ทางสมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิกได้หารือถึงแนวทางในการป้องกัน หนึ่งในนั้นคือ การแก้ไข พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่ดีอีกำลังดำเนินการแก้ไข เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถทำการลัดขั้นตอนในการตัดวงจรที่จะสร้างความเสียหายให้กับประชาชนได้ ซึ่งจะต้องรอดูว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวจะแล้วเสร็จและบังคับใช้ได้เมื่อใด ที่สำคัญจะบังคับใช้อย่างไรจึงจะไม่เป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากเป้าหมายสำคัญคือ การปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนนั่นเอง.