อากาศธาตุ?

ถือว่า “แข็งแกร่ง” ในระดับแนวหน้าของ “ครม. แพทองธาร 1/1” ต่อเนื่องถึง “1/2” สำหรับ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ ก่อนหน้านี้ เป็นเขาที่ถูกมองเป็น “ภาพลบ” จากสังคมไทยในหลายมิติ โดยเฉพาะประเด็น…เหมือนจะไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง
เน้นใช้ กลยุทธ์การสร้าง…“ความสัมพันธ์ที่ดี” และ “โฟกัส” เฉพาะกลไก JBC, GBC, RBC เพื่อจัดการปัญหาชายแดน “ไทย-กัมพูชา” มากเกินไป ทั้งที่มันไม่ตอบโจทย์ในสถานการณ์นี้
กระทั่ง นำไปสู่ข้อสงสัยเชิงกล่าวหา ที่ว่า…นายมาริษ เหมือนไม่คิดจะรักษาอธิปไตยของชาติอย่างจริงใจสักเท่าใด?
ที่สุด! ชื่อของเขาก็ไม่หลุดจาก “ครม.แพทองธาร 1/2″ นั่นก็หมายความว่า…แนวคิดและการกระทำของนายมาริษ ไปเป็นในทิศทางเดียวกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ “สทร.” นายทักษิณ ชินวัตร บิดาของ น.ส.แพทองธาร
เป็นหนึ่งและเนื้อเดียวกัน???
โดยเมื่อวันที่ 9-12 ก.ค.2568 นายมาริษ เดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 58 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แล้ว
แต่ก่อนจะเข้าร่วมประชุมในเวทีใหญ่ รมว.ต่างประเทศของไทย ใช้โอกาสนี้…หารือระดับ “ทวิภาคี” กับบรรดา รมต.ต่างประเทศของชาติมหาอำนาจ ไล่ตั้งแต่…จีน, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู)
เริ่มที่จีน…บทสรุปที่ได้จากการหารือกับ นายหวัง อี้ รมต.ต่างประเทศของจีน นั่นคือ…
“…ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อย่างยาวนาน ซึ่งปีนี้…เป็นปีของการฉลองครบรอบความสัมพันธ์ 50 ปีของไทย-จีน โดยพูดคุยในเรื่องการพัฒนาศักยภาพและความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อให้ก้าวต่อไปอีกระดับได้อย่างไร มีการพูดคุยเรื่องการแลกเปลี่ยนการเยือนผู้นำระดับสูง ตลอดจนความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคต่างๆ ซึ่งในปีนี้ จีนจะเป็นเจ้าภาพการประชุมในกรอบแม่โขง-ล้านช้างระดับรัฐมนตรี ขณะที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เชิญ นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เยือนไทย ในช่วงการประชุมดังกล่าวด้วย” นายมาริษ กล่าวและว่า…
นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน และการเชื่อมต่อระบบรางเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนและตอนบนของประเทศไทยกับตอนใต้ของประเทศจีน
ด้านสหรัฐฯ ถือเป็นการพบกันครั้งแรก กับ…นายมาร์โก รูบิโอ รมต.ต่างประเทศ ซึ่ง นายมาริษ บอกว่า…มีการหารืออย่างกว้างขวางและจริงใจ
โดย สหรัฐฯเห็นความสำคัญของประเทศไทย ในฐานะ “พันธมิตร” ที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน “ความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” และพร้อมสนับสนุน “รัฐบาลไทย” ในเรื่องความมั่นคงต่อไป
นอกจากนี้ สหรัฐฯยังพร้อมจะร่วมมือกับไทย ต่อการมีส่วนร่วมพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ รัฐบาลไทยเอง ก็อยากเห็นการพัฒนาขีดความสามารถทางอาวุธ เพื่อให้ไทยมีความเข้มแข็งด้วยตนเอง เพราะประเทศไทย…มีบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพในการพัฒนา นับเป็นแนวทางที่สอดคล้องกันเป็นอย่างมาก
แต่ที่น่าสนใจกว่า คือ ระหว่างการหารือในระดับทวิภาคี…ไทยกับสหรัฐฯ แม้เป็นแค่ระดับ “รมต.ต่างประเทศ” ทว่าก็ไม่มีการพูดคุยในประเด็นที่กำลังร้อนฉ่า! อย่าง…เรื่องการจัดเก็บอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯของสินค้าไทย ที่จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงถึง 36% แต่อย่างใด???
สำหรับ สหราชอาณาจักร, นายมาริษ บอกว่า… การได้พูดคุยกับ นายเดวิ แลมมี รมต.ต่างประเทศ ถึงความร่วมมือในสาขาต่างๆ ที่นำไปสู่การพัฒนาทางธุรกิจร่วมกันของภาคเอกชน เช่น ความร่วมมือด้าน…พลังงานทดแทน อุตสาหกรรมด้านความมั่นคง และความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์เขตร้อน
เพราะบริษัทอังกฤษ อย่าง… “สยามไบโอไซแอนส์” มีความร่วมมือในไทยอยู่แล้ว
ข้อสรุประหว่างกัน สอดคล้องกับ นโยบายหลักของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย ก็พร้อมจะพูดคุยกันต่อไป เพื่อสนับสนุนความร่วมมือร่วมกับภาคเอกชนที่จะมีส่วนในการทำธุรกิจร่วมกันในอนาคต
สุดท้าย กับ นางกายา กัลลัส ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่ง นายมาริษ ระบุว่า…ได้หารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ…อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การเปลี่ยนผ่านไปสู่สีเขียว (Green Transition หรือ การปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจและสังคมไปสู่รูปแบบที่ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น) และพลังงานทดแทน ซึ่งสหภาพยุโรปก็เห็นด้วยที่จะมีความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ยังพูดคุยเรื่องการ “ขอฟรีวีซ่าเชงเก้น” สำหรับการเดินทางไปยังประเทศในยุโรป รวมถึงการเจรจา เขตการค้าเสรีไทย-อียู ซึ่งมีการเจรจากันไปแล้วหลายรอบ โดยพยายามจะให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้
หากมองผิวเผิน…การที่ฝ่ายไทยได้หารือกับ 4 ชาติ/กลุ่มประเทศ “มหาอำนาจ” จีน, สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร (อังกฤษ) และสหภาพยุโรป บนดินแดนประเทศเพื่อนบ้านทางตอนใต้ของไทย
ย่อมถือว่า…ไม่ธรรมดาทีเดียว!!!
แต่หากมอง ในเชิงการทูต ก็ต้องถือว่า…มันเป็นแค่มารยาทที่ 2 ฝ่ายจะต้องแสดงออกต่อกัน เท่านั้น และหากลงลึกกับหัวข้อหารือที่ยังไม่มีข้อยุติใดๆ ด้วยแล้ว อาจถือว่า…ไม่เป็นชิ้นเป็นอันมากนัก
จากนี้ ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า…ผลสัมฤทธิ์แห่งความสำเร็จ จากการหารือในระดับทวิภาคีกับ “4 มหาอำนาจ” ในแบบ “เสียไม่ได้” ในครั้งนี้ จะเห็นผลก่อนที่ ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่สุ่มเสี่ยงต่อความอยู่รอดของ น.ส.แพทองธาร และรัฐบาลชุดนี้ หรือไม่? อย่างไร?
หากไปต่อไม่ได้!!! ล่ะก็ สิ่งที่ นายมาริษ ปูทางเอาไว้…คงเป็นได้แค่ “อากาศธาตุ” เท่านั้น.