สคก.เดินหน้าปลดล็อกศักยภาพกฎหมายไทย ประกาศใช้ AI-คลาวด์ เร่งขับเคลื่อนสู่สมาชิก OECD อย่างยั่งยืน

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เดินหน้าขับเคลื่อนการเข้าถึงข้อมูลกฎหมายด้วยเทคโนโลยีคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จับมือไมโครซอฟท์ ยกระดับระบบกฎหมายของประเทศ ก้าวเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD อย่างมั่นคง สะท้อนภาพ “การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล” ชี้! ไม่ได้เป็นเพียงเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของ “ผู้คน”

ภายในอาคารอันสง่างามริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็น ศูนย์กลางทางการค้าสำคัญของภูมิภาคในอดีต กำลังมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญทางดิจิทัลเกิดขึ้นในวันนี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ในฐานะ หน่วยงานที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลไทย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลโครงสร้างกฎหมายของประเทศมากว่าศตวรรษ กำลังก้าวสู่บทบาทใหม่ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ที่จะไม่เพียงยกระดับการยกร่าง ปรับปรุง และเข้าถึงกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับประเทศไทยบนเวทีโลก

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะ หน่วยงานที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยี แต่คือเรื่องของคน และการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้บริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น และสนับสนุนความก้าวหน้าของประเทศไทย  

ด้วยความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ ดังนั้น สคก. ได้นำศักยภาพของคลาวด์และ AI ในใช้ในการบริหารจัดการเอกสารกฎหมายจำนวนมหาศาล ลดความซับซ้อนของการเปรียบเทียบกฎหมาย และเร่งผลักดันเป้าหมายของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) ให้เป็นรูปธรรม

ความท้าทายของระบบกฎหมายไทยในยุคดิจิทัล :

ระบบกฎหมายไทยในปัจจุบันเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก จากจำนวนกฎหมายที่มีอยู่มากกว่า 70,000 ฉบับ ซึ่งรวมถึงพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง พระราชกฤษฎีกา ประกาศ และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ทำให้เกิดความซับซ้อนทั้งในเชิงโครงสร้างและเนื้อหา

 เอกสารทางกฎหมายเหล่านี้มีจำนวนมากและมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างยิ่ง” นายปกรณ์ อธิบายและย้ำว่า… “กฎหมายแต่ละฉบับอาจมีผลต่อหรือถูกจำกัดโดยกฎหมายอื่น ๆ อีก และทุกฉบับต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ รวมถึงมาตรฐานสากล การดูแลให้ทุกอย่างเชื่อมโยงและสอดคล้องกันจึงเป็นภารกิจที่สำคัญมาก”

ในอดีต บุคลากรของสคก. ต้องอาศัยเอกสารฉบับพิมพ์และองค์ความรู้ภายในองค์กรเป็นหลัก แม้จะมีการพัฒนาฐานข้อมูลกฎหมายมาตั้งแต่พ.ศ. 2537 แต่ยังคงมีข้อจำกัดด้านการสืบค้น การจัดโครงสร้าง และการเข้าถึงข้อมูล

 เปิดตัวระบบ TH2OECD พลิกโฉมการเปรียบเทียบกฎหมายด้วย AI :

หัวใจของการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้คือ “TH2OECD” ระบบ AI เพื่อการเปรียบเทียบกฎหมาย ที่สคก.พัฒนาร่วมกับ STelligence พันธมิตรของไมโครซอฟท์ ระบบ AI นี้สร้างบนแพลตฟอร์ม Microsoft Azure OpenAI ซึ่งระบบนี้สามารถวิเคราะห์และเปรียบเทียบกฎหมายไทยกว่า 70,000 ฉบับ กับข้อกำหนดของ OECD กว่า 270 ฉบับ ได้แบบเรียลไทม์ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

“ที่ผ่านมาภาษาเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของการทำให้กฎหมายไทยสอดคล้องกับมาตรฐานสากล” นายปกรณ์ กล่าว “แต่วันนี้ ด้วยเครื่องมือแปลภาษาและเปรียบเทียบที่ขับเคลื่อนด้วย AI เราสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้นได้” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ย้ำและว่า…

 ระบบ AI ช่วยแปลกฎหมายไทยเป็นภาษาอังกฤษ และแปลข้อกำหนดของ OECD เป็นภาษาไทยโดยอัตโนมัติ จากนั้นใช้เทคโนโลยีประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing: NLP) เพื่อเปรียบเทียบและไฮไลต์ความแตกต่าง ทำให้เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายสามารถประเมินความสอดคล้อง และแนะนำแนวทางปรับปรุงได้อย่างแม่นยำ

ระบบทั้งหมดทำงานบน Microsoft Azure ซึ่งทำให้สคก. สามารถเปลี่ยนจากการเก็บข้อมูลกฎหมายในรูปแบบ PDF ที่ไม่สามารถสืบค้นได้ ไปสู่การจัดเก็บในรูปแบบที่เป็นโครงสร้าง พร้อมค้นหาได้ทันที นอกจากนี้ ยังใช้ Microsoft 365 และ Copilot เพื่อให้ทีมงานสามารถทำงานร่วมกัน อัปเดตเอกสาร และวิเคราะห์เชิงนโยบายได้จากทุกที่ทั่วประเทศ

ด้าน นายไมค์ เย รองประธานภูมิภาคฝ่ายกิจการองค์กรภายนอกและกฎหมาย ไมโครซอฟท์ เอเชีย กล่าวว่า “เราภูมิใจที่ได้สนับสนุนการดำเนินงานของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการนำ AI มาใช้เพื่อปรับกฎหมายไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐาน OECD ภารกิจในการเปรียบเทียบกฎหมายไทยกว่า 70,000 ฉบับกับเครื่องมือทางกฎหมายของ OECD กว่า 276 รายการภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศต้องใช้เวลาหลายปีในการดำเนินการ ขณะที่สคก. ได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าและความเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน”

ก้าวสู่การเป็นสมาชิก OECD อย่างยั่งยืน :

เขากล่าวว่า…การปรับปรุงระบบกฎหมายของไทยไม่ใช่เพียงการปฏิรูประดับชาติ แต่ยังเป็นกลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็นสมาชิก OECD ซึ่งจะเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือระดับโลก

“การเป็นสมาชิก OECD ไม่ใช่เพียงการได้เครื่องหมายรับรอง แต่เป็นคำมั่นสัญญาว่าเราจะยึดมั่นในมาตรฐานสากล ความโปร่งใส และขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” นายปกรณ์ กล่าวเสริม

“ระบบ TH2OECD กำลังช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายนี้ได้เร็วขึ้น ด้วยการปรับโครงสร้างกฎหมายให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติระดับโลก” นายไมค์ เย ระบุและว่า…

ในอนาคต สคก. มีแผนขยายการใช้งานระบบนี้ไปยังหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ รวมถึงเชื่อมต่อฐานข้อมูลจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานอื่น ๆ พร้อมพัฒนา “ศูนย์รวมข้อมูลกฎหมายส่วนกลาง” ที่ให้ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนสามารถเข้าถึงได้ โดยมี AI คอยสนับสนุน

สร้างรากฐานแห่งความยั่งยืนผ่านเทคโนโลยี :

เขาย้ำว่า เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แห่งความโปร่งใส ครอบคลุม และทันสมัย ผู้นำในภาครัฐทราบดีว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นผ่านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อความยุติธรรมและระบบกฎหมาย ตลอดจนการร่วมมือกับพันธมิตรที่เชื่อถือได้ โดยสคก. ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเทคโนโลยี AI และคลาวด์สามารถรับใช้ประโยชน์สาธารณะได้อย่างแท้จริง

“เราไม่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงเพียงเพราะต้องเปลี่ยน” นายปกรณ์ กล่าวปิดท้าย

และ “แต่เราเชื่อในการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยส่งเสริมพลังของผู้คน ให้ทุกกฎหมายไม่ใช่แค่มีอยู่ในเล่ม แต่สามารถเข้าถึงและปกป้องทุกคนได้จริง” นายไมค์ เย กล่าวสรุป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password