พาณิชย์วุ่น! เกาะติดปมศาลสหรัฐฯ พลิกคำสั่ง! อนุมัติเก็บภาษีต่อ ส่อความไม่แน่นอนการค้าโลกรอบใหม่

“โฆษกกระทรวงพาณิชย์” เผย! พร้อมเฝ้ากาะติด หลังคำสั่งฉุกเฉินของศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ระงับคำตัดสินของศาลการค้าระหว่างประเทศชั่วคราว หนุนสหรัฐฯ เดินหน้าเก็บภาษีภายใต้กฎหมาย IEEPA ต่อไปได้ แนะผู้ประกอบการเตรียมรับมือความผันผวน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์มาตรการทางภาษีของสหรัฐอเมริกาที่กลับมามีความไม่แน่นอนอีกครั้ง ภายหลังจากศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ (U.S. Court of Appeals for the Federal Circuit: CAFC) ได้อนุมัติคำขอฉุกเฉินของรัฐบาลสหรัฐฯ ให้คงมาตรการทางภาษีไว้ชั่วคราว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญ:

• 28 พฤษภาคม 2568: ศาลการค้าระหว่างประเทศ (The Court of International Trade: CIT) มีคำสั่งให้ระงับมาตรการทางภาษีที่บังคับใช้ภายใต้อำนาจของกฎหมาย International Emergency Economic Powers Act (IEEPA) ศาลวินิจฉัยว่าฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ใช้อำนาจเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยคำสั่งดังกล่าวครอบคลุมถึงมาตรการภาษีต่อจีน แคนาดา และเม็กซิโกในประเด็นสารเสพติดเฟนทานิล และมาตรการภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) กับคู่ค้าทั่วโลก

• 29 พฤษภาคม 2568: กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาล CIT ต่อศาล CAFC พร้อมยื่นคำร้องฉุกเฉินเพื่อของดเว้นการปฏิบัติตามคำสั่งของศาล CIT ในระหว่างกระบวนการอุทธรณ์

• ในวันเดียวกัน (29 พฤษภาคม 2568): ศาล CAFC ได้อนุมัติตามคำร้องฉุกเฉินดังกล่าว ส่งผลให้คำสั่งของศาล CIT ถูกระงับเป็นการชั่วคราว และทำให้มาตรการทางภาษีของฝ่ายบริหารยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าศาล CAFC จะพิจารณาการอุทธรณ์แล้วเสร็จ

กระบวนการหลังจากนี้และแนวโน้ม

ศาล CAFC ได้กำหนดให้ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ยื่นข้อโต้แย้งฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2568 ในระหว่างนี้ หน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯ (U.S. Customs and Border Protection: BCP) จะยังคงจัดเก็บภาษีนำเข้าต่อไปได้จนกว่าจะมีคำตัดสินสิ้นสุด กระบวนการพิจารณาในชั้นศาลอุทธรณ์คาดว่าจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 6-18 เดือน

นายพูนพงษ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้ในอนาคตหากศาล CAFC มีคำตัดสินยืนตามศาล CIT ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ยังคงมีเครื่องมือทางกฎหมายอื่นๆ ในการดำเนินมาตรการทางภาษีได้ อาทิ:

• มาตรา 301 (The Trade Act of 1974): ให้อำนาจผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) สอบสวนและตอบโต้แนวปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของประเทศคู่ค้า

• มาตรา 232 (The Trade Expansion Act of 1962): ให้อำนาจในการใช้มาตรการเพื่อปกป้องความมั่นคงของประเทศ

• มาตรา 338 (The Tariff Act of 1930): ให้อำนาจประธานาธิบดีกำหนดภาษีศุลกากรสูงถึง 50% ต่อประเทศที่มีการเลือกปฏิบัติต่อสินค้าสหรัฐฯ แต่ต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับรายงานจากคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USITC) ก่อน

นายพูนพงษ์ กล่าวปิดท้ายว่า กระทรวงพาณิชย์จะติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด แต่เนื่องจากกระบวนการทางศาลที่ใช้ระยะเวลานาน ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password