สยอง! ‘ไชน่า เรลเวย์ฯ’ รับงาน 29 โครงการรัฐ มูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล. – ลุ้นหนักตึกไหนจะไปก่อน?

ลุ้นหนัก 29 โครงการรัฐ ถูกรับงานโดยบริษัทรัฐวิสาหกิจจีน ด้าน DSI จ่อฟัน “ไชน่า เรลเวย์ฯ” ผิดฮั้วประมูล – รับงานผ่านนอมินี เกือบ 30 โครงการรัฐ มูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท ลั่น! พบหุ้นส่วนนอมินีคนไทยรายได้หลักหมื่น แต่ถือหุ้นบริษัทใหญ่ เผย! 3 ผู้ถือหุ้นคนไทย ส่อเป็นนอมินี! “โสภณ – ประจวบ – มานัส” ลากโยงกับ 11 กิจการร่วมค้า  

เมื่อช่วงสายวันนี้ (4 เม.ย.) ณ ห้องประชุม ชั้น 1 อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคดี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ตามความผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (นอมินี) กรณีอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม เป็นคดีพิเศษที่ 32/2568 โดยมี พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ พร้อมด้วย ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีดีเอสไอ, พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค, พ.ต.ท.อมร หงษ์ศรีทอง ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) และ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ รวมทั้งสิ้น 36 ราย เข้าร่วมประชุมฯ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงผลการประชุมว่า ตนมารับฟังข้อมูลและอยากให้ อธิบดีดีเอสไอ พร้อมคณะทำงาน ได้รับทราบว่าคดีนี้เป็นที่สนใจของประชาชนและต้องการความยุติธรรม ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะอ้างว่าแผ่นดินไหว แต่บนพื้นที่ 320 ล้านไร่ในประเทศไทย พบว่าเกิดขึ้นเพียงที่ดินก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ พื้นที่เพียง 11 ไร่เท่านั้น ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย และมีผู้ประสบเหตุ จำนวน 103 ราย ซึ่งต้องเร่งให้การช่วยเหลือ

สำหรับ แนวทางการสอบสวนจำเป็นจะต้องมีพยานหลักฐาน และพยานบุคคลที่มีชีวิตอยู่ก็ต้องไปสอบสวน รวมถึง พยานวัตถุว่าอะไรเป็นสาเหตุของอาคารถล่มจนมีผู้เสียชีวิต หากปล่อยให้อาคารชำรุดไปเลยก็จะโยนความผิดเพราะหาหลักฐานไม่ได้ และวัสดุอุปกรณ์เป็นยี่ห้อใดถือเป็นพยานวัตถุต้องประสานผู้รับผิดชอบ อยากให้ผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบถือเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญ และที่สำคัญอย่าเข้าไปเป็นอุปสรรค เราต้องเชื่อว่าบุคคลสูญหายยังมีชีวิตอยู่ การอยู่รอดชีวิตถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

ด้าน อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า นอกจากความผิดคดีนอมินีรับเป็นคดีพิเศษ ก็ยังมีความผิดอื่นพิจารณาควบคู่ไปด้วย กล่าวคือ ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) ซึ่งจะต้องดูว่าในส่วนคนไทยที่ไปถือหุ้นนั้น ต้องพิสูจน์ว่าเป็นการถือหุ้นโดยอำพรางหรือไม่ ทั้งนี้ เบื้องต้น พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มีการไปตรวจสอบยังบ้านพักของ นายประจวบ ศิริเขตร ที่ อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด แต่ไม่พบตัว เจอเพียงภรรยา ซึ่งได้ให้ข้อมูลว่า นายประจวบมีรายได้น้อยมาก ทำงานรับจ้างเกี่ยวกับการก่อสร้าง ได้เงินเดือนประมาณหมื่นกว่าบาท เท่านั้น

ทั้งนี้ ภรรยาของนายประจวบ ยังบอกด้วยว่า เมื่อสามีตนกลับมาถึงบ้าน ไม่ได้พูดคุยถึงเรื่องตึก สตง. ถล่ม ให้ฟังว่าเกี่ยวข้องกับตนเองอย่างไร จากนั้น จึงได้ออกจากบ้านไปแล้ว 2-3 วันก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้แจ้งว่าออกไปที่ไหนอย่างไร ซึ่งดูแนวโน้มเบื้องต้น มันไม่สอดคล้องกับการที่เขาไปถือหุ้นในนิติบุคคลหลายๆ แห่ง จึงเป็นสิ่งบ่งชี้ที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นการถือหุ้นอำพราง (นอมินี) นอกจากนี้ ในกรณีกรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทยอีก 2 รายที่เหลือ คือ นายโสภณ มีชัย และ นายมานัส ศรีอนันท์ เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างติดตามตัวเช่นเดียวกัน

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวอีกว่า ส่วนสัญญาที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมค้าและได้รับงานจากภาครัฐ ตั้งแต่ปี 2562 – 2567 จำนวน 29 สัญญา คณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างการตรวจสอบเช่นเดียวกัน เพราะตอนนี้เรายังโฟกัสที่คดีนอมินีเป็นหลักก่อน นอกจากนี้ หากย้อนไปดูในส่วนของ 11 รายชื่อกิจการร่วมค้าของ บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ จะพบว่า หลายที่ก็ยังไม่ได้เกิดเหตุใดๆ ยังปกติอยู่ ดังนั้น เราจึงไปดูในส่วนของ “กิจการร่วมค้า ไอทีดี ซีอาร์อีซี“ เป็นหลักก่อน ส่วนกรณีที่มีรายงานข้อมูลว่าบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ เข้าไปเกี่ยวข้องกับบริษัทธุรกิจยางแห่งหนึ่งนั้น ขณะนี้ดีเอสไอยังไม่มีข้อมูลดังกล่าวแต่อย่างใด

สำหรับกรณี บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด (Xin Ke Yuan Co., Ltd.) นั้น ดีเอสไอจะตรวจสอบถึงประเด็นที่เป็นผู้จำหน่ายเหล็กให้กับบริษัทที่เกิดเหตุ เนื่องจากทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้ไปตรวจสอบแล้วพบว่ามีสินค้าบางรายการที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ส่วนเรื่องฝุ่นแดงของเหล็ก ทราบว่า เป็นความผิดเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีปลอม และเป็นเรื่องของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเอสไออาจต้องไปดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

ปัจจุบัน สำนักงานที่แท้จริงของ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ จะอยู่ที่ใดนั้น ขอให้คณะพนักงานสอบสวนตรวจสอบให้ครบถ้วนเพื่อความถูกต้อง ทั้งนี้ ภายในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะสามารถออกหมายเรียกพยานกลุ่มแรกมาสอบสวนปากคำได้ แต่ขอเวลาให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ตรวจสอบสักระยะ” อธิบดีดีเอสไอ ระบุ

ขณะที่ น.ส.กนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี กล่าวว่า จากการติดตาม ผู้ถือหุ้นชาวไทยทั้ง 3 ราย คือ นายประจวบ นายโสภณ และนายมานัส ซึ่งจากข้อมูลพบว่าทั้ง 3 รายได้มาเป็นผู้ถือหุ้นและผู้ก่อตั้ง ตั้งแต่มีการก่อตั้งนิติบุคคลเกิดขึ้น โดยกรณีของ นายมานัส ในช่วงแรกของการก่อตั้งนิติบุคคล เคยถือหุ้นถึง 360,000 หุ้น แต่ได้โอนหุ้นไปให้ นายโสภณ ทำให้เหลือหุ้นเพียง 0.0003 โดยดีเอสไออยู่ระหว่างติดตามว่าการโอนหุ้นระหว่างสองคนนี้ เป็นการซื้อขายหุ้นแท้จริงหรือไม่ ประกอบกับ บุคคลทั้งสามที่เป็นผู้ถือหุ้น เท่าที่ทราบในตอนนี้ยังไม่เคยประกอบอาชีพในเรื่องของการรับเหมาก่อสร้างมาก่อน แล้วเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งยังรับงานภาครัฐ รวมไปถึงนายโสภณ ยังเข้าไปเป็นผู้บริหารงานร่วมกับชาวจีนอีกหนึ่งราย ซึ่งตอนนี้ดีเอสไออยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบเอกสารเพิ่มเติม

ด้าน ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า จากการตรวจสอบ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ สามารถประมูลงานของภาครัฐได้ 29 โครงการ ปัจจุบันเป็นเงินรวม 22,000 ล้านบาทในโครงการตามสัญญา  โดยคณะพนักงานสอบสวนขอเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดไม่เกิน 2 เดือน เนื่องด้วยรายละเอียดค่อนข้างมีจำนวนเยอะ แต่มันจะทำให้ต่อจิ๊กซอว์ได้ว่าเหตุใดต้องเป็นต่างด้าว แล้วมาอำพรางเป็นคนไทย แล้วทำไมต้องเข้ามาเป็นกิจการร่วมค้าในประเทศไทย เหตุใดจึงไม่เข้าร่วมประมูลโครงการด้วยตัวเอง ทั้งที่กล่าวอ้างว่าเป็นคนไทย แล้วทำไมต้องมาร่วมประมูลกับบริษัทที่มีชื่อเสียง เพื่อให้รัฐเชื่อมั่นในเรื่องของการประมูล จนมันทำให้เกิดเหตุการณ์เลวร้าย ทั้งยังเป็นอาคารก่อสร้างเพียงแห่งเดียวที่อยู่ห่างจากจุดแผ่นดินไหว และเป็นอาคารสูงที่สุดแล้วเกิดถล่มลงมา

สำหรับ โครงการก่อสร้าง สตง. ราคากลางพบว่า 2,500 ล้านบาท แต่ประมูลได้ราคา 2,136 ล้านบาท ซึ่งมันอยู่ในเกณฑ์ 15% มันไม่เลยกฎเกณฑ์ที่ไทยกำหนด แต่ภาษานักก่อสร้างเรียกว่าเป็นการฟันงาน เพื่อจะบีบตัวเองลงมา ทั้งที่จริง ๆ แล้วราคากลางของการก่อสร้างตึก สตง. มันเข้มข้นมาก ราคา 2,500 ล้านบาท ถือว่าเป็นมาตรฐานเกณฑ์ขั้นต่ำแล้ว แต่ทำไมยังดีดราคาลงมาได้ถึง 300-400 ล้านบาท เป็นสิ่งที่เราต้องค้นหาความจริงว่าบริษัทได้มีการนำเอาความอันเป็นเท็จ หรือแสดงข้อเท็จจริงอย่างไรที่ทำให้รัฐหลงผิด

ร.ต.อ.สุรวุฒิ ระบุต่อไปว่า สำหรับ 11 กิจการร่วมค้าที่ได้ไปร่วมกับ บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ จะถูกตรวจสอบ สอบสวนด้วยเช่นกัน เพราะถ้าพบความผิด แล้วผิดคนเดียวก็จะเป็นเรื่องยาก พร้อมยืนยันว่ากรรมการในบริษัทอื่น ๆ เหล่านี้ยังไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เพียงแสดงให้เห็นว่ามีแผนประทุษกรรมในลักษณะนี้

นอกจากนี้ ภายหลังจากที่อธิบดีดีเอสไอได้รับคดีนอมินีเป็นคดีพิเศษ โดยเฉพาะประเด็น 3 กรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทยในบริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ได้แก่ นายโสภณ มีชัย ถือหุ้น 40.7997% นายประจวบ ศิริเขต ถือหุ้น 10.2% และ นายมานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้น 0.0003% ปรากฏว่า ได้มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอลงพื้นที่ติดตามตัวกรรมการคนไทยบางรายไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียบร้อยแล้ว เพื่อเตรียมเรียกสอบสวนปากคำตามขั้นตอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า การจดทะเบียนได้ตั้งวัตถุประสงค์เอาไว้คือ ดำเนินการบริการด้านการทรัพยากรมนุษย์ และรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ อาคารที่พักอาศัย สถานที่ทำการ ทางรถไฟ ทางรถสาธารณะ ทางรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยมี 3 คนไทย ร่วมถือหุ้นบริษัทดังกล่าว

นายโสภณ มีชัย ถือหุ้น 407,997 หุ้น (40.7997%) บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ และถือหุ้นนิติบุคคล 4 บริษัท คือ 1.บจก.ไฮห่าน ถือหุ้น 51% (ไทย 51% , จีน 49%) 2.บจก.ยูไนเต็ด สตาร์ กรุ๊ป ถือหุ้น 25.5% (ไทย 51% , จีน 49%) 3.บจก.สยาม ไบโอเมดิคอล ไซเอนซ์ ถือหุ้น 10% (ไทย 100%) และ 4.บจก.ไซเบอร์ เทเลคอม ถือหุ้น 60% (ไทย 100%)

นายประจวบ ศิริเขตร ถือหุ้น 102,000 หุ้น (10.2%) บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ และถือหุ้นนิติบุคคล 7 บริษัท คือ 1.บจก.วีล มาร์ท (ประเทศไทย) ถือหุ้น 9.08% (ไทย54.1% , จีน 45.9%) 2.บจก.สันติภาพ พร็อพเพอร์ตี้ ถือหุ้น 12% (ไทย 63% , จีน 37%) 3.บจก.เอสทีพี อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต (ประเทศไทย) ถือหุ้น 37.48% (ไทย 99.95% , จีน 0.05%) 4.บจก.เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล ถือหุ่น 27.9% (ไทย 80% , จีน 20%) 5.บจก.สแตร์ ลาเบล อินเตอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) ถือหุ้น 20% (ไทย51% , จีน 49%) 6.บจก.สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต ถือหุ้น 7.71% (ไทย 58.7% , จีน 41.3%) และ 7.บจก.โชคนิมิตร บิสซิเนส แอนด์ เซอร์วิส ถือหุ้น 30% (ไทย 100%)

นายมานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้น 3 หุ้น (0.0003%) บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ และถือหุ้นนิติบุคคล 10  บริษัท คือ 1.บจก.ยูไนเต็ด สตาร์ กรุ๊ป ถือหุ้น 25.5% (ไทย 51% , จีน 49%) 2.บจก.วีล มาร์ท (ประเทศไทย) ถือหุ้น 45.03% (ไทย 54.1% , จีน 45.9%) 3.บจก.สันติภาพ พร็อพเพอร์ตี้ ถือหุ้น 12% (ไทย 63% , จีน 37%) 4.บจก.เอสทีพี อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต (ประเทศไทย) ถือหุ้น 62.48% (ไทย 99.95% , จีน 0.05%) 5.บจก.เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล ถือหุ้น 52.1% (ไทย 80% , จีน 20%) 6.บจก.สแตร์ ลาเบล อินเตอร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) ถือหุ้น 31% (ไทย 51% , จีน 49%) 7.บจก.เลนเยส อี-พาวเวอร์ ถือหุ้น 51% (ไทย 51% , จีน 49%) 8.บจก.สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต ถือหุ้น 48% (ไทย 58.7% , จีน 41.3%) 9.บจก.สยาม ไบโอเมดิคอล ไซเอนซ์ ถือหุ้น 70% (ไทย 100%) และ 10.บจก.โชคนิมิต บิสซิเนส แอนด์ เซอร์วิส ถือหุ้น 40% (ไทย 100%)

สำหรับ รายชื่อกิจการร่วมค้าบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมค้าและ ได้รับงานจากภาครัฐ 29 โครงการ มี 11 กิจการร่วมค้า (ชื่อคู่สัญญา) ตั้งแต่ปี 2562-2567 ประกอบด้วย 1.กิจการร่วมค้า AKC , 2.กิจการร่วมค้า RCH , 3.กิจการร่วมค้า ซีไอเอส , 4.กิจการร่วมค้า ดับบลิว จี ซี 10 คอนสตรัคชั่น , 5.กิจการร่วมค้า ดีวายซีอาร์ คอนสตรัคชั่น , 6.กิจการร่วมค้า ทีพีซี , 7.กิจการร่วมค้า อาร์เเอลจี , 8.กิจการร่วมค้า เอ จี ซี 10 คอนสตรัคชั่น , 9.กิจการร่วมค้า เอ ซี คอนสตรัคชั่น , 10.กิจการร่วมค้า ไอทีดี ซีอาร์อีซี และ 11.กิจการร่วมค้า เอ็นซีอาร์อีซี รวม 29 โครงการ มูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท (22,773,856,494.83)

นอกจากนี้ ยังพบว่า มีนิติบุคคลอยู่ที่ตั้งเดียวกัน 8 บริษัท ได้แก่ (1) บจก. ยูไนเต็ด สตาร์ กรุ๊ป คนไทยถือหุ้น 51% คนจีนถือหุ้น 49% (2) บจก.วิล มาร์ท (ประเทศไทย) คนไทยถือหุ้น 54.1% คนจีนถือหุ้น 45.9% (3) บจก.สันติภาพ พร็อพเพอร์ตี้ ไทย 63% จีน 37% (4) บจก.เอสทีพี อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต (ประเทศไทย) ไทย 99.95% จีน 0.05% (5) บจก.เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล ไทย 80% จีน 20% (6) บจก.สแตร์ ลาเบล อินเตอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) ไทย51% จีน 49% (7) บจก.โมเยนเน่ (ประเทศไทย) ไทย 75% จีน 25% และ (8) บจก.สยาม ไบโอเมดิคอล ไทย 100%.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password