ส.อ.ท. เร่งภาครัฐปรับโครงสร้างภาษีนำเข้า รับมือ สงครามการค้า
![](https://yutthasartonline.com/wp-content/uploads/2025/02/IMG_20250205_121031.jpg)
ส.อ.ท. เผย ผลสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 43 เดือนมกราคม 2568 ชี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ เห็นด้วย ปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าก่อน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศ และเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสงครามการค้าที่คาดว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 43 ในเดือนมกราคม 2568 ภายใต้หัวข้อ “ความเห็นต่อนโยบายการปฏิรูปภาษีไทย” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ เห็นด้วยหากภาครัฐดำเนินการปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าก่อน เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศ และเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสงครามการค้าที่คาดว่าจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ขณะที่การปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในช่วงเวลานี้ ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย
จากผลสำรวจยังพบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ให้ความสำคัญกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันเป็นปัจจัยหลักที่ควรต้องนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินนโยบายปฏิรูปภาษี โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) และกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ทำให้สินค้าส่งออกไทยตามเทรนด์เทคโนโลยีโลกไม่ทัน ส่งผลทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปจากเดิม การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว
ขณะเดียวกันแนวทางการปฏิรูปภาษีควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีแผนและกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนให้ภาคธุรกิจปรับตัว ตลอดจนออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราภาษีแก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า การปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม Global Minimum Tax ในอัตรา 15% ที่มีผลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 นั้น อาจทำให้ภาครัฐไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนได้ดังเดิม ดังนั้นภาครัฐต้องคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันด้านการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศด้วย เช่น ต้นทุนวัตถุดิบ โลจิสติกส์ ฯลฯ
พร้อมทั้งเตรียมปรับปรุงกฎระเบียบและเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องเหมาะสม และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม (Rule of law กฎหมายสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์) ตลอดจนพัฒนาคุณภาพการศึกษา และส่งเสริมแรงงานทักษะสูงรองรับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ ที่มีมูลค่าสูง