‘อัครา’ ยืนยันบ่อกักเก็บกากแร่ไม่รั่ว โชว์หลักฐานยืนยันความปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐาน

บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ตามที่มีการรายงานข่าวศาลปกครองกลาง (“ศาล”) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาว่า ได้มีคำพิพากษายกฟ้องกรณีที่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (“กพร.”) ที่สั่งให้บริษัทดำเนินการแก้ปัญหาการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 และแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในบริเวณพื้นที่โครงการให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (“คำสั่ง”) นั้น บริษัทขอชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของทุกฝ่าย ดังนี้

คำวินิจฉัยดังกล่าวเกิดจากการที่บริษัทได้ฟ้องร้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของ กพร. เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2561 ที่ให้บริษัทดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่มีความชัดเจน ไม่มีรายละเอียดที่สามารถปฎิบัติได้ โดยคำสั่งได้อ้างผลการประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีของบริษัท ที่มีมติโดยอาศัยข้อมูลจากรายงานการศึกษาที่มีกรรมการให้ความเห็นชอบ 7 คน และไม่เห็นชอบ 6 คน งดออกเสียงมากกว่า 10 คน จากจำนวนกรรมการทั้งหมดที่ไม่ทราบแน่ชัด เนื่องจากไม่มีการนับองค์ประชุม ถือได้ว่ามติดังกล่าวไม่เป็นเอกฉันท์ และมีผู้ออกเสียงไม่ถึงครึ่งของจำนวนกรรมการที่มีอยู่ในคณะ ประการสำคัญ คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังไม่ได้ให้การรับรองรายงานการประชุมครั้งนี้

นอกจากนี้ ยังมีข้อที่น่าสังเกตว่า ยังมีความเห็นแย้งของนักวิชาการที่ประกอบเป็นคณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญฯ ที่เสนอเรื่องขึ้นมา แสดงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรที่ปกรองของรายงานว่า “อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อคิดเห็นของคณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญฯ บางท่านที่มีความเห็นแตกต่างจากรายงานฉบับสมบูรณ์ ซึ่งสามารถพิจารณารายละเอียดข้อคิดเห็นของผู้ที่มีความเห็นแตกต่างดังกล่าวในภาคผนวกของรายงานฉบับสมบูรณ์” อันแสดงให้เห็นว่า แม้แต่คณะทำงานย่อยผู้เชี่ยวชาญฯ ที่กำกับดูแลการจัดทำรายงานนี้ ก็ยังไม่สามารถสรุปสาระสำคัญของรายงานได้

อย่างไรก็ดี ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งบริษัท และ กพร. ได้มีความพยายามหาทางออกในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการประกอบการตามแนวทางของรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งมีการร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ดำรงอยู่ โดยมีการปฎิบัติตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 และกรอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำ พ.ศ. 2560 เช่น การจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน การจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง การจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงและกองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าการประกอบการของบริษัทเป็นไปตามมาตรฐานสากล และไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดทำแผนการปิดบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 และแผนการฟื้นฟูบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ซึ่งเป็นข้อสั่งการของ กพร. เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ตามหนังสือ ที่ อก 0512/4801 ลงวันที่ 14 กันยายน 2560 ให้ กพร. พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว และบริษัทดำเนินงานตามแผนเหล่านี้ต่อเนื่อง โดยมีการติดตามตรวจสอบ ตรวจวัด อย่างเข้มงวดเป็นรายไตรมาสจากคณะเจ้าหน้าที่ซึ่งประกอบด้วย กพร. สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 5 พิษณุโลก สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร และเพชรบูรณ์ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 4 นครสวรรค์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพชรบูรณ์และพิจิตร

รวมทั้งผู้แทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอีกจำนวนหนึ่ง จนบริษัทได้รับอนุญาตต่ออายุประทานบัตร และใบอนุญาตประกอบโลหกรรมในปี พ.ศ. 2564 และ 2565 ตามลำดับ

สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 นั้น บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้จัดทำโครงการ “ตรวจสอบเสถียรภาพและโอกาสการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1” เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเป็นระบบ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งการดำเนินการศึกษาเป็นไปตามแผนงานที่เสนอ และได้รับความเห็นชอบในที่ประชุมที่มีผู้บริหารของ กพร. และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ผลการศึกษาของโครงการดังกล่าวมีข้อสรุปรายงานลงวันที่ 13 กันยายน 2567 ว่า บ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ของบริษัทไม่ได้รั่วซึมแต่อย่างใด ซึ่งบริษัทได้ส่งรายงานฉบับดังกล่าวให้ กพร. แล้ว เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567

นอกจากนี้ ภายหลังได้กลับมาประกอบกิจการเมื่อเดือนมีนาคม 2566 บริษัทได้ดำเนินการทุกอย่างภายใต้การกำกับดูแลและตรวจสอบจากหน่วยงานราชการที่มีอำนาจหน้าที่อยู่เสมอ รวมทั้งจัดให้มีการตรวจสุขภาพประจำปีให้แก่พนักงานและประชาชนรอบเหมืองในรัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งผลการตรวจโลหิตและปัสสาวะจากห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลรามาธิบดี ไม่พบสิ่งผิดปกติอันบ่งชี้ถึงการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและการดำรงชีวิตประจำวัน

บริษัทยังมีรายงานการตรวจสอบมาตรฐานการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี โดยบริษัทที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เป็นผู้คัดเลือก คือ แบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (Behre Dolbear International Limited) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบและประเมินการปฏิบัติงานของเหมืองทองทั่วโลกยาวนานกว่า 100 ปี มาสอบทานการดำเนินงานของบริษัทอย่างละเอียดทุกขั้นตอน โดยผลการประเมินพบว่า มีความปลอดภัย เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในทุกขั้นตอนทำให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม เทียบเท่าเหมืองแร่ชั้นนำทั่วโลก และไม่พบการรั่วไหลของโลหะหนักจากบ่อกักเก็บกากแร่สู่ชุมชนแต่อย่างใด

นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ หัวหน้าผู้จัดการทั่วไปของบริษัท กล่าวว่า ประเด็นที่เป็นข้อพิพาทนั้นเป็นเรื่องที่เกิดมาก่อนหน้านี้หลายปี โดยที่ตลอดช่วงเวลา 2-3 ที่ผ่านมามีความพยายามจากทั้งสองฝ่ายในการแก้ไขปัญหาด้วยดี บริษัทได้ปฏิบัติตามคำสั่งและคำแนะนำต่างๆ อย่างเคร่งครัด ในส่วนของคดีความนั้น ขณะนี้ ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและฝ่ายกฎหมายของบริษัทกำลังพิจารณาแง่มุมต่างๆ เพื่อหาข้อสรุปทั้งในเชิงข้อกฎหมาย และในเชิงเทคนิควิชาการในรายงานที่คำสั่งของ กพร. อ้างถึง อีกทั้งบริษัทมีรายงานการศึกษาจากหน่วยงานกลางที่ กพร. ให้ความเห็นชอบข้อเสนอโครงการยืนยันผลหลังจากที่ กพร.มีคำสั่งดังกล่าว ว่าบ่อกักเก็บเก็บกากแร่ของบริษัทไม่มีการรั่วซึมแต่อย่างใด

นอกจากนั้นยังมีข้อมูลภายในของบริษัทที่ได้เก็บรวบรวมจากการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ กพร. และหน่วยงานกำกับดูแลเสมอมา ขอยืนยันว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การดำเนินงานของบริษัทมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ซึ่งพนักงานและครอบครัว รวมถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทราบดี และให้การสนับสนุนบริษัทด้วยดีเสมอมา.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password