‘มนพร’ หวังเที่ยวบินเข้าไทยปีหน้าแตะ 1 ล.เที่ยวบิน – สั่ง บวท.เตรียมพร้อมรับต่างชาติเข้าไทยช่วงปีใหม่นี้
“รมช.คมนาคม” มอบหมาย บวท. เตรียมความพร้อมรองรับปริมาณเที่ยวบินช่วงปีใหม่ 2568 รวม 7 วัน กว่า 1.8 หมื่นเที่ยวบิน หรือโต 14% ด้าน “วิทยุการบินฯ” ชู I-SMART ใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการ เพิ่มขีดความสามารถทางวิ่ง หวังอำนวยความสะดวก ประชาชน-ไฟลท์บินไม่ล่าช้า-ปลอดภัย คาดปีหน้า อุตสาหกรรมการบินโตต่อเนื่อง แตะ 1 ล้านเที่ยวบิน
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ที่จะถึงนี้ คาดว่าจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยจากการรายงานของ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) คาดการณ์ปริมาณเที่ยวบินในช่วงระหว่างวันที่ 27ธันวาคม 2567 – 2 มกราคม 2568 รวม 7 วัน ระบุว่า จะมีเที่ยวบินรวม 18,280 เที่ยวบิน เฉลี่ย 2,611 เที่ยวบินต่อวัน เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนในปี 2568 อุตสาหกรรมการบินในประเทศจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน ซึ่งคาดว่า จะมีเที่ยวบินทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านเที่ยวบิน จากปี 2567 ที่ให้บริการเที่ยวบินรวม 981,270 เที่ยวบิน และยังเตรียมที่จะพัฒนาท่าอากาศยานและระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อรองรับการเติบโตสอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ บวท. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน ภายใต้แนวคิด I-SMART ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม พร้อมทั้งประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีมาบริหารจัดการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวให้มีรวดเร็ว และปลอดภัยและรองรับปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อไม่ให้เที่ยวบินมีความล่าช้า และลดความแออัดของเที่ยวบิน รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านข้อมูลสภาพการจราจรทางอากาศและข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้สายการบินอย่างรวดเร็วและทั่วถึง
ด้าน นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า วิทยุการบินฯ ได้เตรียมมาตรการรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม โดยได้ดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานทางวิ่ง (High Intensity Runway Operation) หรือ HIROs ซึ่งจะจัดระยะห่างของอากาศยานขาเข้าและขาออกให้กระชับตามกฎเกณฑ์มาตรฐานและสัมพันธ์กับค่าการใช้เวลาบนทางวิ่งของอากาศยาน (Runway Occupancy Time) เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้มากที่สุด สามารถใช้ทางวิ่งร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเพิ่มข้อกำหนดทางขับ (Preferred-Exit Taxiway) ที่เหมาะสมให้อากาศยานใช้ในการออกจากทางวิ่ง เพื่อใช้เวลาบนทางวิ่งน้อยที่สุด เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจราจรทางอากาศ
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการ HIROs จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากเดิมรองรับได้ 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ขณะที่ ท่าอากาศยานดอนเมือง จะเพิ่มเป็น 57-60 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากเดิม 52 เที่ยวบินต่อชั่วโมง อีกทั้ง ยังขยายขีดความสามารถด้านการปฏิบัติการบินและการกำหนดความเร็วของอากาศยานให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์และคำแนะนำการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างอากาศยานบนแนวร่อนให้คงที่และสามารถทำการลงได้อย่างปลอดภัย
นอกจากนี้ บวท. ยังได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่เข้าดูแลทั่วทุกบริเวณอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ การควบคุมการจราจรทางอากาศและวิศวกร รวมถึงเตรียมมาตรการรองรับในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อต้องการให้ประชาชนผู้ใช้บริการ เดินทางอย่างปลอดภัย ถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ และดำเนินการตามแผนของกระทรวงคมนาคม ภายใต้แนวคิด I-SMART ที่ประกอบด้วย I – Inclusive ระบบขนส่งที่เข้าถึงทุกคน , S – Safe, Security and Sustainable ความปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน, M – Multimodal Transport การคมนาคมขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ, A – Approachable สะดวก, R – Reasonable Price ราคาสมเหตุสมผล, T – Timely and Technology ตรงเวลาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี.