8 แบงก์แห่ชิงปล่อยกู้ Sustainability Loan สูงเกิน 3.27 เท่า – สบน. หนุน รฟม. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เผย! 8 แบงก์สนใจปล่อยกู้ยืมเงินเพื่อความยั่งยืน สูงกว่าวงเงินที่ รฟม.ต้องการจริง 1.17 หมื่นล้านบาท ถึง 3.27 เท่า นับเป็นความสำเร็จอย่างสูง ระบุ! กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวไปแล้ว ทั้งการออกพันธบัตรและเงินกู้ รวมเฉียด 5 แสนล้านบาท ย้ำ! รฟม.เน้นขยายโครงการรถไฟสายสีส้มที่อิงรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งก้อน
นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า การกู้เงินในรูปแบบสัญญากู้ยืมเงินเพื่อความยั่งยืนในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของกระทรวงการคลัง โดยมีวงเงินกู้ 17,700 ล้านบาท อายุเงินกู้ 4 ปี ได้รับความสนใจจากสถาบันการเงินที่มีนโยบายส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืนอย่างท่วมท้น โดยมีวงเงินเข้าประมูลสูงถึง 3.27 เท่าของวงเงินกู้ ซึ่งปี 2568 นับเป็นปีแรกที่ สบน. ได้พัฒนาเครื่องมือทางการเงินสีเขียว (Green Finance) ให้มีความหลากหลายได้สำเร็จ โดยมีเครื่องมือทั้งในรูปแบบพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และสัญญากู้ยืมเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Loan) จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่ตอกย้ำนโยบาย สบน. ที่มุ่งมั่นสู่เส้นทางการเติบโตอย่างยั่งยืน
การกู้เงินในครั้งนี้เป็นการกู้เงินเพื่อให้กู้ต่อแก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้าประเภทรางหนัก (Heavy Rail) เป็นรูปแบบการเดินทางคาร์บอนต่ำมีส่วนช่วยลดมลภาวะทางอากาศ และเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ จึงมีคุณสมบัติเป็นสัญญากู้ยืมเงินเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตอบโจทย์ความยั่งยืน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการเงินภายใต้กรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (The Kingdom of Thailand’s Sustainable Financing Framework) นอกจากนั้น การกู้เงินครั้งนี้เป็นการทำสัญญากู้ยืมเงินโดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ย THOR เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยพัฒนาขึ้นใหม่เพื่อให้สะท้อนต้นทุนการกู้เงินบาท ที่สอดคล้องกับสภาพคล่องเงินบาทในประเทศได้ดีขึ้น
“สบน. ขอขอบคุณสถาบันการเงินทั้ง 8 แห่ง ที่ให้ความสนใจและช่วยสนับสนุนการออก Sustainability Loan ในครั้งนี้ และขอขอบคุณ รฟม. ที่ร่วมผลักดันและดำเนินแผนงานการยกระดับเมืองด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ทั้งนี้ สบน. ยังคงเดินหน้าสู่บทบาทการเป็นผู้นำในการส่งเสริมการเงินและผลักดันเศรษฐกิจสีเขียว โดยมีเป้าหมายการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินสีเขียว (Green Finance) เพื่อส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงการ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมขับเคลื่อนและเปลี่ยนผ่านประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” นางจินดารัตน์ กล่าว
สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะได้รับน่าจะอยู่ในอัตราร้อยละ 2 ซึ่งต่ำกว่าการกู้เงินตามวิธีการทั่วไปประมาณร้อยละ 50 ก่อให้เกิดผลดีต่อ รฟม. ขณะที่สถาบันการเงินเอง ก็ได้มีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของสังคมเนื่องจากแสดงความรับผิดชอบในการเพิ่มพอร์ทสินเชื่อที่ใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การจัดหาเงินกู้เพื่อความยั่งยืนของ สบน. ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของพันธบัตรรัฐบาล (Sustainability Bond) หรือรูปแบบสัญญากู้ยืมเงิน (Sustainability Loan) ปัจจุบัน กระทรวงการคลัง โดย สบน.ได้ดำเนินการไปแล้วรวมทั้งสิ้นเกือบ 500,000 ล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล 480,000 ล้านบาท และสัญญากู้ยืมเงินเพื่อความยั่งยืนอีก 17,700 ล้านบาท.