‘ขุนคลัง’ อยากเห็น ‘กนง.’ หั่นดอกเบี้ยอีก0.25% ปัดเข็นชื่อ ‘กิตติรัตน์’ นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ

รองนายกฯและ รมว.คลัง ลั่น! อยากเห็น “กนง.” ลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% หวังให้สอดคล้องเงินเฟ้อต่ำ-ทิศทางดอกเบี้ยโลก พร้อมปัดเข็นชื่อ “กิตติรัตน์” นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ชง ครม. แจงยังมีเวลา!

วันที่ 16 ธ.ค. 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 18 ธ.ค. 2567 ซึ่งเป็นการประชุมนัดสุดท้ายของปีนี้นั้น ส่วนตัวอยากเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยของโลก

“การพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยเป็นการตัดสินใจของ กนง. โดยที่ผ่านมาผมได้มีการหารือนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลายครั้งแล้ว ซึ่งเชื่อว่าทางธปท. ได้รับรู้ถึงข้อกังวล และความห่วงใยของกระทรวงการคลังหมดแล้ว เพราะในมุมของเรา ถ้าลดดอกเบี้ยลงได้ ก็ดี อยากดูเรื่องนี้ให้สอดคล้องกับเงินเฟ้อที่ตอนนี้ยังต่ำอยู่ แต่จะลดลงเมื่อไรก็อยากให้ กนง. เขาดูตัดสินใจกันเอง” นายพิชัย กล่าว

นอกจากนี้ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 17 ธ.ค. 2567 นั้น จะยังไม่มีการเสนอชื่อผู้ที่จะได้รับตำแหน่งประธานกรรมการ ธปท. ให้ ครม. พิจารณา เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบถามความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งตอนนี้ยังไม่ครบถ้วน โดยตามกำหนดถือว่ายังมีเวลาดำเนินการเรื่องดังกล่าวได้ถึงกลางเดือน ม.ค. 2568 ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่มีปัญหาอะไร เช่นเดียวกับการเสนอกรอบเงินเฟ้อปี 2568 ที่จะยังไม่มีการนำเสนอให้ ครม. พิจารณาในสัปดาห์นี้ เช่นกัน โดยคาดว่าจะเสนอให้ ครม. พิจารณาได้ภายในปีนี้

โดยก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ซึ่งมีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการคัดเลือก ได้มีมติเลือก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ แทนนายปรเมธี วิมลศิริ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติที่สิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2567

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบ ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ว่า คาดว่าจะมีการเปิดให้ลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ได้ลงทะเบียนเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบบันลูกหนี้กลุ่มจ่อตกชั้น (SM) นั้น มีเม็ดเงินกว่าล้านล้านบาท หากไม่เร่งเข้าไปช่วยเหลือ ก็จะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) และติดอยู่ในเครดิตบูโร ทำให้เสียกลุ่มบุคคลที่จะเป็นกำลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปจำนวนมาก ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องสร้างกลไกในการดึงกลุ่มนี้ออกมาและทำให้เข้มแข็งอีกครั้ง

ส่วนคำถามว่าลูกหนี้ที่มีวินัยดีจะไม่ได้รับการดูแลนั้น ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันมีกลไกของระบบสถาบันการเงินที่จะพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นพิเศษให้กับกลุ่มลูกหนี้ที่ชำระดีมีวินัยอยู่แล้ว ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะแตกต่างกับกลุ่มหนี้เสีย ขณะเดียวกันที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามเรียกร้องในเรื่องการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยบรรเทาภาระของประชาชนมาโดยตลอด โดยเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเชื่อว่า ธปท. ก็น่าจะเป็นอยู่ และมั่นใจว่าจะมีการพิจารณาอะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนออกมาอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ที่มีข่าวว่านายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.การคลังเตรียมดึงทุนสำรองของประเทศมาใช้ปล่อยสินเชื่อ 1 ล้านล้านบาท นั้น นายจุลพันธ์ ระบุว่า หลังจากหารือกับนายพิชัยแล้ว ขอยืนยันว่าไม่มีเรื่องนี้ และน่าจะเป็นความเข้าใจผิดจากการสื่อสาร โดยปัจจุบันในระบบธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่อง 3-4 ล้านล้านบาท ขณะที่ ธปท. เองก็มีสภาพคล่องจำนวนมาก ดังนั้นด้วยกลไกที่รัฐบาลมีและกำลังสร้างขึ้นเพื่อเอื้อในการดึงเม็ดเงินสภาพคล่องเหล่านี้ออกมาหมุนเขียนเข้าระบบเศรษฐกิจ จะช่วยให้คนที่ประกอบอาชีพสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะไปทำอะไรกับทุนสำรองของประเทศ ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password