กรมศุลฯผนึกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สกัดเฮโรอีน 21.8 กิโลฯ ยึด ‘ไอซ์ – ช่อดอกกัญชา – สินค้าละเมิดสิทธิ์ฯ’ก่อนซุกส่งออก

กรมศุลกากร ขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง บูรณาการร่วมหลายหน่วยงาน เดินหน้าสกัดนำเข้าและส่งออก “ยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย” ปกป้องประเทศจากมหันตภัยร้าย ล่าสุด ตรวจยึดเฮโรอีนและช่อดอกกัญชาที่เตรียมลำเลียงออกนอกประเทศ พร้อมทั้งยึดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ตอกย้ำความพร้อมในการสกัดกั้นทุกช่องทาง

เมื่อช่วงสายวันจันทร์ที่ 16  ธันวาคม 2567 นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะ “โฆษกกรมศุลกากร” นายจักกฤช อุเทนสุต รองอธิบดีกรมศุลกากร พร้อมผู้แทนจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว สถานีตำรวจภูธรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานพิทักษ์เขตแดนแห่งออสเตรเลีย (Australian Border Force : ABF) ร่วมกันแถลงข่าว “ศุลกากรบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สกัดเฮโรอีน 21.8 กิโลฯ พร้อมตรวจยึดไอซ์ – ช่อดอกกัญชา และสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าก่อนส่งออกนอกประเทศ” ณ ศูนย์แถลงข่าว อาคาร 1 ชั้น 2 กรมศุลกากร คลองเตย

“โฆษกกรมศุลกากร” กล่าวว่า ตามนโยบายของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้า – ส่งออก นำผ่าน และจำหน่ายยาเสพติด เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย ด้าน กระทรวงการคลัง โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงขานรับนโยบายและสั่งการให้กรมศุลกากรเข้มงวดกวดขันในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร จึงกำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเฝ้าระวังและเร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้ามาในและส่งออกไปนอกราชอาณาจักร

โดยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ตรวจค้นผู้โดยสารต้องสงสัย 2 ราย ณ อาคารผู้โดยสารขาออก ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ได้มีการสืบทราบและทำการเฝ้าระวังติดตามมาระยะหนึ่ง ว่าจะมีการลักลอบลำเลียงยาเสพติดออกนอกประเทศ  โดยผู้โดยสารต้องสงสัยเตรียมเดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าสู่ประเทศกานา เมื่อพบผู้ต้องสงสัยรายดังกล่าวจึงทำการตรวจค้น พบเฮโรอีนซุกซ่อนอยู่ในสัมภาระของผู้โดยสารทั้ง 2 ราย น้ำหนัก 21.8 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 21.8 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดข้ามชาติ โดยการปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกรมศุลกากร ชุดปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task Force : AITF) ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด รวมถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว สถานีตำรวจภูธรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ) และสำนักงานพิทักษ์เขตแดนแห่งออสเตรเลีย (Australian Border Force : ABF)

นอกจากนี้ กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ยังได้ตรวจยึดยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ยาไอซ์ (Methamphetamine) ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ จำนวน 2 คดี โดย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2567 ได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้ามต้องกำกัดออกนอกราชอาณาจักร พบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศต้องสงสัย ปลายทางประเทศอิสราเอล สำแดงเป็น “Coffee Medicines Dietary Supplement Products” ตรวจสอบพบ ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ยาไอซ์ (Methamphetamine) ลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวใส ซุกซ่อนในซองเครื่องดื่มสำเร็จรูป น้ำหนัก 2,000 กรัม มูลค่า 600,000 บาท ต่อมา ในวันที่ 9 ธันวาคม 2567 พบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศต้องสงสัย ปลายทางประเทศออสเตรเลีย สำแดงเป็น “Food” ตรวจสอบพบ ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ยาไอซ์ (Methamphetamine) บรรจุในห่อพลาสติกใสซุกซ่อนในซองเครื่องดื่มสำเร็จรูป น้ำหนัก 3,900 กรัม มูลค่าประมาณ 1.17 ล้านบาท ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นความผิดตามมาตรา 242 และมาตรา 252 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด

และ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ตรวจสอบสินค้าขาออกแสดงข้อมูลในใบขนสินค้าเป็น เสื้อผ้า อาหารแห้ง และของใช้ในครัวเรือน ระบุปลายทางประเทศอังกฤษ ตรวจพบเป็นช่อดอกกัญชาบรรจุในอาหารแห้ง (กะปิ) น้ำหนักรวม 51.35 กิโลกรัม มูลค่า 513,500 บาท นอกจากนั้น ยังตรวจพบสินค้าต้องสงสัยว่าละเมิดเครื่องหมายการค้ากว่า 240 ชิ้น น้ำหนักรวม 182.63 กิโลกรัม มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 336,000 บาท เนื่องด้วยช่อดอกกัญชาจัดเป็นสมุนไพรควบคุม ผู้ใดประสงค์จะส่งออกจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาต ซึ่งในขณะตรวจค้นผู้ส่งของออกไม่มีใบอนุญาตดังกล่าวมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ฯ กรณีนี้จึงเป็นความผิดฐานแสดงข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วน และส่งของที่กำลังผ่านพิธีการศุลกากรออกไปนอกราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัดเกี่ยวกับของนั้น อันเป็นความผิดตามมาตรา 202, 208, 244 และ 252 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องสมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ. 2565 และ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542

สำหรับสถิติการจับกุมยาเสพติดของกรมศุลกากร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 – 15 ธันวาคม 2567 จับกุมได้ 57 คดี มูลค่า 109.67 ล้านบาท กัญชาและช่อดอกกัญชา จำนวน 204 คดี มูลค่า 13.88 ล้านบาท สินค้าละเมิดเครื่องหมายทางการค้า (1 ตุลาคม 2567 – 30 พฤศจิกายน 2567) จำนวน 101 คดี มูลค่า 3.57 ล้านบาท

“โฆษกกรมศุลกากร” กล่าวต่ออีกว่า กรมศุลกากรจะเดินหน้าสกัดกั้นภัยยาเสพติดและของละเมิดกฎหมายอย่างไม่ลดละ และยืนยันว่าจะเดินหน้าเฝ้าระวังและทำงานเชิงรุกอย่างเข้มข้น พร้อมเป็นด่านหน้าในการสกัดกั้นการกระทำความผิดในทุกช่องทาง เพื่อเป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างความสุขให้สังคมไทย และสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงให้ประเทศ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password