พาณิชย์สั่งคุมเข้มคุณภาพ ‘มันเส้นนำเข้า – ส่งออก’ พร้อมสกัดผู้ซื้อฉวยโอกาสกดราคารับซื้อ

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ส่ง “ชุดตรวจคุณภาพมันเส้น” ลงพื้นที่เฝ้าระวังสูง (พื้นที่สีแดง) หวั่นมีขบวนการลักลอบนำของคุณภาพต่ำเข้าไทย ย้ำ! มันเส้นที่นำเข้า – ส่งออก ต้องได้มาตรฐานตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด เผย! ล่าสุด สั่งพักทะเบียนผู้นำเข้าที่มีการปลอมปนแล้ว

นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กล่าวว่า ปัจจุบันผลผลิตมันสำปะหลัง ฤดูกาลผลิตปี 2567/68 ของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ต่างเริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้ว ส่งผลให้สถานการณ์การค้ามันเส้นตามแนวชายแดน และท่าส่งออกกลับมาคึกคักขึ้น จึงได้สั่งการให้ “ชุดตรวจคุณภาพมันเส้น” กระจายตัวลงพื้นที่ตามด่านนำเข้ามันเส้นและท่าส่งออกหลัก เพื่อคุมเข้มคุณภาพมันเส้นให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยล่าสุด “ชุดตรวจคุณภาพ” ได้ลงพื้นที่ ณ ด่านศุลกากรช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ และตรวจพบว่ามีการนำเข้ามันเส้นที่มีดินทรายเจือปนสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด (กฎหมายกำหนดดินทรายต้องไม่เกิน 3%) ซึ่งกรมฯ ได้พักทะเบียนผู้นำเข้ามันเส้นดังกล่าวทันที

ทั้งนี้ การนำเข้ามันเส้นที่มีคุณภาพไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด อาจส่งผลให้ผู้ซื้อฉวยโอกาสกดราคารับซื้อ ซึ่งจะส่งผลต่อเสถียรภาพราคามันสำปะหลังในประเทศ ดังนั้น กรมฯ จะเพิ่มความเข้มข้นโดยส่ง “ชุดตรวจคุณภาพมันเส้น” ลงพื้นที่ถี่ขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งขณะนี้ถือเป็นพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังสูง เนื่องจากเพิ่งตรวจพบผู้นำเข้าที่มีการนำเข้ามันเส้นที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะส่งผลต่อเกษตรกรไทย นอกจากนี้ จะส่ง “ชุดตรวจคุณภาพมันเส้น” ลงพื้นที่ตามท่าส่งออกสำคัญซึ่งกระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการนำเข้า – ส่งออก มันเส้นเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด

“การส่ง “ชุดตรวจคุณภาพมันเส้น” ลงพื้นที่ตามด่านชายแดนและท่าส่งออก นับจากนี้จะเป็นไปอย่างเข้มข้นจนกว่าผลผลิตมันสำปะหลังฤดูกาลผลิตปี 2567/68 ล็อตสุดท้ายจะออกสู่ตลาด ดังนั้น การคุมเข้มคุณภาพมันเส้นนำเข้า-ส่งออก นับเป็นภารกิจที่ตนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อในต่างประเทศว่าจะได้สินค้าที่มีคุณภาพ และช่วยให้ไทยมีแต้มต่อทางการค้าเหนือประเทศคู่แข่งอื่น นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างความสมดุลระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับนโยบายของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งบริหารสินค้าให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกร และผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ขอย้ำว่า การค้าที่ยั่งยืนคือการค้าที่ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสม ผู้บริโภคพอใจสินค้า เกษตรกรยิ้มได้ ผู้ประกอบการค้าขายมีกำไร” อธิบดีฯ อารดา กล่าวสรุป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password