เปิดแผน ‘คมนาคม’ สู้คดีเขากระโดง ชี้ ‘ชัย ชิดชอบ’ ยอมรับ เป็นแค่ผู้อาศัย
กระทรวงคมนาคม สั่งทีมกฎหมายเดินหน้าสู้คดีเขากระโดง โดยยึดเอกสาร 10 ชิ้น ที่ชี้ชัดเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตั้งแต่สมัยการสร้างแนวเส้นทางนครราชสีมา-อุบลราชธานี เมื่อปี 2462 และประเด็นสำคัญที่ถูกจบตา คือ ม.157 ที่กระทรวงคมนาคมจะเอผิดกับอธิบดีกรมที่ดิน กรณีไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาล
รฟท.มีหลักฐานประกอบและยืนยันกรรมสิทธิ์ ซึ่งได้ชี้แจงไปยังอธิบดีกรมที่ดินเพื่ออุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิที่ดินเขากระโดง โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถยืนยันว่าที่ดินบริเวณทางแยกเขากระโดง ตำบลอิสาณ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ดินของการถไฟแห่งประเทศไทย ตามกฎหมาย นอกเหนือจากแผนที่ปี 2539 ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ถึง 10 ประเด็น ประกอบด้วย
1.พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจาก นครราชสีมา-อุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พ.ย.2462
2.พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้างวันที่ 28 ส.ค. 2463
3.พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตทางรถไฟแผ่นดิน ต่อจากนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี วันที่ 25 พ.ย.2464
4.พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้างวันที่ 7 พ.ย.2464
5.พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494
6.พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินแลอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น เพื่อสร้างทางรถไฟ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวงจัดการสร้างวันที่ 22 ธ.ค.2465
7.หนังสือกรมรถไฟแผ่นดิน เลขที่ ค.อ. 508/67 ลงวันที่ 24 พ.ย.2467
8.กรมรถไฟแผ่นดิน สายโคราช-อุบล แผนที่แสดงเขตร์ที่ดินของกรมรถไฟตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรำ กิโลเมตร์ 375+650 มาตรา 1 : 40000
9.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 – 876/2560 และที่ 8027/2562 และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 คดีหมายเลขแดงที่ 1112/2563
10.คำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 582/2566
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีที่ รฟท.ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมที่ดิน เพื่ออุทธรณ์คำสั่งไม่เพิกถอนเอกสารแสดงสิทธิที่ดินเขากระโดง เรื่องนี้เป็นขั้นตอนปฏิบัติที่กระทรวงคมนาคมจำเป็นต้องทำเพื่อชี้แจงถึงรายละเอียดหลักฐานการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฯ
รวมทั้งเรื่องนี้กรมที่ดินควรปฏิบัติตามคำสั่งของศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่พิจารณาแล้วว่าที่ดินเขากระโดงเป็นของการรถไฟฯ ดังนั้นเมื่อกรมที่ดินวินิจฉัยต่างจากคำตัดสินของศาล การรถไฟฯ ก็มีความจำเป็นต้องโต้แย้ง
“กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมาย และทางการรถไฟฯ พิจารณาข้อมูลทุกด้านเพื่อพิสูจน์การเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีการออกโฉนดทับซ้อน ส่วนเรื่องแนวทางทางกฎหมายที่กระทรวงฯ จะดำเนินการหลังจากนี้ ปัจจุบันฝ่ายกฎหมายกำลังศึกษาอยู่ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนนี้” นายสุริยะ กล่าว
ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายกำลังดำเนินการพิจารณาอยู่ 3 ประเด็น คือ
1.แนวทางการฟ้องร้องดำเนินคดีตาม ม.157 กับอธิบดีกรมที่ดิน ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานรัฐ หากอธิบดีกรมที่ดินไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกให้กับประชาชนในพื้นที่ทับซ้อน
2.หาข้อมูลเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าที่ดิน หรือการครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ทับซ้อนของผู้ครอบครองรายบุคคล เพื่อตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดเกี่ยวกับสัญญาเช่าที่ดินทั้งหมด
3.ฟ้องศาลปกครอง กรณีที่กรมที่ดินไม่เพิกถอนโฉนดตามพิพากษาของศาล
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมมีข้อมูลยืนยันได้ว่าการรถไฟฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินเขากระโดง ซึ่งรายละเอียดหลักฐานได้ชี้แจงไปยังอธิบดีกรมที่ดินแล้ว โดยมีรายละเอียดถึง 20 หน้า มีข้อมูลประกอบทั้งส่วนของที่มาของกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ซึ่งการรถไฟฯ ได้รับตั้งแต่ปี 2462 เพื่อก่อสร้างทางรถไฟหลวงต่อจาก นครราชสีมา-อุบลราชธานี รวมไปถึงรายละเอียดของคำพิพากษาศาลต่างๆ ที่เคยพิจารณาเกี่ยวกับข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนนี้
ส่วนกรณีของการยุติข้อพิพาทนี้ มีความเป็นไปได้ในการหารือกับประชาชนเพื่อทำสัญญาเช่าที่ดินจากการรถไฟฯ หรือไม่นั้น นายสุริยะ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องในอนาคต การทำสัญญาเช่าเป็นรายบุคคลเป็นเรื่องที่ปัจจุบันกระทรวงฯ ยังไม่ได้พิจารณา เพราะปัจจุบันต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำตัดสินของกระบวนการทางกฎหมาย ตามที่ศาลฎีกา และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ดำเนินการก่อน
แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย เผยว่า ขณะนี้นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เสนอเรื่องเข้าสู่อนุกรรมการกฎหมายฯ ของการรถไฟฯ เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการที่เป็นธรรม เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของราชการ และข้อกฎหมาย เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับประเด็นการออกโฉนดทับซ้อนบริเวณเขากระโดง
โดยขอให้อนุกรรมการกฎหมายฯ เสนอแนวทางการดำเนินการเข้าสู่คณะกรรมการ (บอร์ด) รถไฟเพื่อทราบ และเพื่อที่จะได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไป
ส่วนกรณีที่จะมีการฟ้องมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานรัฐ หากกรณีอธิบดีกรมที่ดินยังไม่ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลฯ ให้เพิกถอนนั้น ปัจจุบันการรถไฟฯ มองว่าต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการตามกฎหมายหากพิจารณาแล้วเห็นว่า เจ้าพนักงานของกรมที่ดิน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถือเป็นอาญาแผ่นดิน โดยรัฐเป็นผู้เสียหาย
แต่หากกรมที่ดินปฏิบัติตามคำสั่งศาลฯ ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกทับซ้อนในบริเวณเขากระโดง เบื้องต้นการรถไฟฯ ได้วางกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ไว้ โดยให้ประชาชนสามารถขอเช่าที่ดินบริเวณดังกล่าวในหลายรูปแบบ อาทิ การเช่าสำหรับอยู่อาศัย การเช่าสำหรับทำการเกษตร หรือการเช่าสำหรับเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า การรถไฟฯ มั่นใจว่าที่ดินเขากระโดงที่มีข้อพิพาทอยู่นั้นเป็นที่ดินที่การรถไฟฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะพื้นที่เหล่านี้เป็นที่ดินที่มีพระบรมราชโองการของรัชกาลที่ 5 พระราชทานให้แก่การรถไฟฯ เป็นเนื้อที่ 5,083 ไร่ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาให้เป็นที่ดินของการรถไฟฯ
แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า จากหลักฐานเชิงประจักษ์ทั้งหมดนั้น แสดงให้เห็นแล้วว่าการรถไฟฯ เป็นผู้ริเริ่มเข้าไปยังพื้นที่เขากระโดง โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างทางรถไฟ และได้มีการออกเป็นพระราชกฤษฎีกาที่ชัดเจนแล้ว
ดังนั้นที่ดินในบริเวณเขากระโดงจึงถือเป็นกรรมสิทธิ์โดยการรถไฟฯ อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมา ยังมีประชาชนในพื้นที่อาศัยนั้น ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจากการถไฟฯ เพื่อขออยู่อาศัย ดังนั้นสะท้อนได้ว่าการรถไฟฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ไม่เช่นนั้นเหตุใดจึงเคยมีสัญญาเช่า และมีการจ่ายค่าเช่าที่ดินให้กับการรถไฟฯ
โดยปัจจุบันการรถไฟฯ ยังคงมีหลักฐานบันทึกการประชุม เรื่อง ข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2513 ซึ่งมีการระบุในรายละเอียดทำสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟฯ ว่า วันนี้ได้มีการประชุมร่วมกันโดยมี นายชัย ชิดชอบ, นายประสิทธิ จุลละเกศ, นายยุกต์ เจียรพันธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่รถไฟ โดยมีผู้ว่าการการรถไฟฯ ในสมัยนั้นเข้าร่วมประชุมด้วย
ซึ่งผลของการประชุมเป็นที่ตกลงกันบางส่วนว่า นายชัย ชิดชอบ และจำเลยอื่นๆ จะไปทำยอมความที่ศาล โดยยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ และไม่ขอต่อสู้คดีต่อไป อีกทั้งนายชัย ชิดชอบ ขออาศัยที่ดินพิพาทจากการรถไฟฯ และการรถไฟฯ ตกลงยินยอมให้อาศัย ซึ่งจะทำสัญญาอาศัยกันต่อไป ซึ่งหลักฐานการประชุมนี้ จึงเป็นหลักฐานที่ยอมรับได้ว่า ที่ดินเขากระโดงเป็นกรรมสิทธิ์โดยการรถไฟฯ และผู้อาศัยนั้นเป็นเพียงผู้เช่า จึงไม่สามารถออกโฉนดที่ดินทับซ้อนได้.