‘กรมศุลฯ-ขบ.’ ผนึกแลกเปลี่ยนข้อมูลเสริมการปฏิบัติงานร่วมกัน – สกัดรถบรรทุกย้อนนำสินค้าส่งออกขายในไทย

กรมศุลกากรจับมือกรมการขนส่งทางบก ลงนาม MOU บูรณาการข้อมูลสนับสนุนการปฏิบัติงาน เผย! ระบบ DLT GPS ช่วยให้การปราบปรามทำได้ง่ายขึ้น เสริมกับระบบเดิมที่กรมศุลกากรใช้อยู่แล้ว ด้าน อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ระบุ! ข้อมูลด้านการขนส่งข้ามแดนจะช่วยทำให้การพัฒนาระบบ GPS มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

เมื่อช่วงสายวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุมภาสกรวงศ์  ชั้น 2 อาคาร 1 กรมศุลกากร, นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร และ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการข้อมูลเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน ระหว่าง กรมศุลกากร กับ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุน และสร้างสัมพันธ์เชิงพันธมิตรในการใช้ทรัพยากรสารสนเทศร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน โดยมีผู้บริหารระดับสูงของทั้ง 2 หน่วยงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน

อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้าและการลงทุนชายแดนและผ่านแดน ปี 2567 – 2570 ของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการผ่านแดน ซึ่งมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการควบคุมทางศุลกากร โดยกระทรวงการคลังมอบหมายให้กรมศุลกากรดำเนินการควบคุมสินค้าผ่านแดนให้เป็นไปอย่างถูกต้องและโปร่งใส ซึ่งกรมศุลกากรได้มีการเสนอแนวทางต่อกระทรวงคลังในเบื้องต้นแล้ว และมีการจัดประชุมเพื่อแจ้งแนวทางที่จะดำเนินการ ตลอดจนรวบรวมปัญหาและอุปสรรคจากด่านศุลกากร มาพิจารณา เพื่อกำหนดนโยบายที่มีความสอดคล้องกับสภาวะการค้าในปัจจุบัน

“ความร่วมมือกับ กรมการขนส่งทางบก ในการแบ่งปันข้อมูลของ ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกของกรมการขนส่งทางบก (ระบบ DLT GPS) ให้กับกรมศุลกากรในครั้งนี้ ถือเป็นแนวทางเพิ่มเติมจากการดำเนินงานที่กรมศุลกากรได้ดำเนินการตรวจสอบรถบรรทุกสินค้าที่ได้แจ้งในเรื่องการขนส่งสินค้าผ่านแดน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการนำสินค้าส่งออกย้อนกลับเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ บุหรี่ ที่ไม่ได้ส่งออกจริง แต่นำกลับมาขายในประเทศ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยทำให้การตรวจสอบรถบรรทุกดังกล่าวทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญกรมศุลกากรไม่ต้องเสียงบประมาณเพื่อการลงทุนในการดำเนินการเพิ่มเติมแต่อย่างใด เป็นความอนุเคราะห์ทางด้านข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐด้วย” นายธีรัชย์ กล่าว

ด้าน อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมฯเองมีแผนในอนาคตอันใกล้จะพัฒนาระบบ GPS ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จากเดิมที่แค่ตรวจสอบความเร็วของรถไม่ให้เกิน 90 กม./ชม. มาเป็นการพัฒนาและควบคุม รวมถึงบริการจัดการทั้งเรื่องการควบคุมความเร็ว โดยมีเป้าหมายปลายทางที่จะให้ข้อมูลด้านการจราจรแก่ประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องเวลาเข้า-ออกของรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งความร่วมมือกับกรมศุลกากรในครั้งนี้ ถือเป็นการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน และกรมฯเอง ก็จะได้รับความร่วมมือจากกรมศุลกากรในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน ซึ่งจะทำให้การควบคุมรถบรรทุกเหล่านั้นทำได้ง่ายและมีสิทธิประภาพมากยิ่งขึ้น

ส่วน นายยุทธนา พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมศุลกากร กล่าวเสริมว่า กรมศุลกากร โดยกองมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร กองกฎหมาย และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก โดยกองแผนงาน สำนักการขนส่งสินค้า สำนักกฎหมาย และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ มีแนวทางร่วมกันในการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการข้อมูลเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน ระหว่าง กรมศุลกากรกับกรมการขนส่งทางบก โดยให้ กรมการขนส่งทางบกแบ่งปันข้อมูลของระบบ DLT GPS ให้กับกรมศุลกากร ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภารกิจของกรมศุลกากรในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางศุลกากรให้เป็นไปอย่างถูกต้องและโปร่งใส และกรมศุลกากรแบ่งปันข้อมูลรถขนส่งสินค้าทางบก ให้กับกรมการขนส่งทางบก ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ และเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานรัฐมีการบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานรัฐเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินและอำนวยความสะดวกในการบริการประชาชน

อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวสรุปทิ้งท้ายกว่า “กรมศุลกากรยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์กร ส่งเสริม สนับสนุน และการสร้างสัมพันธ์ในการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งบูรณาการการดำเนินงานและความร่วมมือ เพื่อตอบสนองนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต่อไป”.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password