จีดีพี Q3/67 โต 3% – ‘สภาพัฒน์’ คาดทั้งปีขยายตัว 2.6% ส่วนปี’68 เชื่อ! โต 2.3- 3.3%
“เลขาธิการสภาพัฒน์” แจงตัวเลขจีดีพีไตรมาสที่ 3 ปีนี้ ขยายตัว 3% คาดทั้งปี น่าจะอยู่ที่ 2.6% ส่วนคาดการณ์ปีหน้า (2568) เชื่อจะขยายตัว 2.3- 3.3% ชี้! รัฐบาลต้องจับตานโยบายเศรษฐกิจ “ทรัมป์ 2.0” โดยเฉพาะสงครามการค้ากับจีน พ่วงข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงในปี 2568 แนะ 5 แนวทางบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กับเวลาที่เหลือของปีนี้และปีหน้า
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า จีดีพีไตรมาส 3 ปี 2567 ขยายตัว 3% เพิ่มขึ้นจาก 2.2% ในไตรมาส 2 หากนับรวม 9 เดือนแรกของปี 2567 จีดีพีขยายตัว 2.3% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการผลิตภาคนอกเกษตรที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามการขยายตัวของกลุ่มบริการ ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตชะลอตัวและภาคการเกษตรปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้าและบริการ การอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล และการลงทุนเร่งขึ้น ขณะที่การอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอตัว คาดว่าทั้งปี 2567 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ 2.6% ขณะที่ปี 2567 ขยายตัวเพียง 1.9% และคาดว่าในปี 2568 จะขยายตัวได้ ในกรอบ 2.3 – 3.3% โดยมีค่ากลางที่ 2.8% มาจากการเพิ่มขึ้นของการบริโภค 3% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.8% การส่งออกขยายตัว 2.6% ขยายตัวต่อเนื่องจาก 3.8%
ด้านเงินเฟ้อในปี 2567 พบว่าน่าจะวิ่งอยู่ในกรอบ 0.3-1.3 % จำเป็นต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายเศรษฐกิจของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้ากับจีน ในการเพิ่มภาษีนำเข้าว่าจะมีความรุนแรงระดับใด สินค้าใดที่จะถูกปรับเพิ่มภาษี และเกิดขึ้นในช่วงใด รวมทั้งปัญหาการทุ่มตลาดสินค้าราคาถูกจากจีน ที่จะสร้างปัญหากับเอสเอ็มอีไทย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องผลักดันการลงทุนภาคเอกชน เร่งรัดการลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอในปี 2565 – 2567 การดูแลผลกระทบต่อภาคเกษตร การเร่งรัดส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป การช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้เข้าถึงสภาพคล่อง ส่วนการโอนเงินให้กลุ่มเปราะบางก่อนหน้านี้น่าจะเห็นผลชัดเจนในช่วงไตรมาส 4 สำหรับเฟสต่อไป คงต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะมีความเสี่ยงหลายด้านเม็ดเงินที่นำมาแจกที่มีจำนวนมาก
ทั้งนี้ ในส่วนสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ขยายตัว 8.4% ต่อเนื่องจากการขยายตัว7.8% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสที่ 3 นี้ มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวน 8.588 ล้านคน (คิดเป็น 93.22% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) ส่งผลให้มูลค่าบริการรับด้านการท่องเที่ยวในไตรมาสนี้อยู่ที่ 3.57 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.6% ส่วนการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวไทย (ไทยเที่ยวไทย) ขยายตัว 6.6% สร้างรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย จำนวน 2.25 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.8% ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 5.82 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.8% สำหรับอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ 68.60% ต่ำกว่า 69.92% ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่า 66.16% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รวม 9 เดือนแรกของปี 2567 สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัว 9.3%
สำหรับ ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงในปี 2568 นั้น เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า น่าจะมีดังนี้
1.ความเสี่ยงจากแนวโน้มการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ท่ามกลางความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสำคัญ และแนวโน้มการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน
2. ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ภายใต้มาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวดมากขึ้นหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่คุณภาพสินเชื่อปรับตัวลดลงส่งผลให้สถาบันการเงินเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อมากขึ้นส่งผลให้มูลค่าสินเชื่อชะลอลง
และ 3. ความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคการเกษตร ทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ๆแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผลผลิตภายใต้สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้นจะสร้างแรงกดดันให้ราคาสินค้าเกษตรลดลง ท่ามกลางสถานการณ์ผลผลิตข้าวจากผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวแนะนำไปยังรัฐบาลในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปีนี้ และปี 2568 ว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ คือ…
1.ขับเคลื่อนภาคการส่งออกให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือผลกระทบจากการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น 2.การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาดและการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม 3.การขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับการเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ โดยอาศัยประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานในการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 4.การดูแลเกษตรกรและสนับสนุนการปรับตัวในการผลิตภาคเกษตร และ 5.การให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาด้านการเข้าถึงสภาพคล่อง เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง.