“กิตติรัตน์” ผงาดนั่งเก้าอี้ ประธานบอร์ด “แบงก์ชาติ” หลังใช้เวลาประชุมกว่า5 ชม.
คณะกรรมการคัดเลือกประธานแบงก์ชาติ มีมติเลือก “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” นั่งเก้าอี้ประธาน หลังใช้เวลาประชุมกว่า 5 ชั่วโมง เตรียมนำเรื่องเสนอที่ประชุม ครม.ทูลเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป
วันที่ 11 พ.ย.2567 คณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มี นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการอีก 6 ราย จะประชุมเพื่อลงมติคัดเลือก หลังจากเลื่อนการลงมติมาแล้ว 2 ครั้ง จากกระแสต่อต้านว่าจะมีฝ่ายการเมืองเข้ามาครอบงำการทำงานของ ธปท.
โดยคณะกรรมการ เริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 10.00 น.ที่ผ่านมา ซึ่งจะตัดสินใจคัดเลือกจากรายชื่อที่ ปลัดกระทรวงการคลังเสนอมา 1 ราย และผู้ว่าการ ธปท.เสนอมา 2 ราย ทั้งนี้ สำหรับตำแหน่งประธานกรรมการนั้น รายชื่อที่กระทรวงการคลังเสนอ ยังคงเป็น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ส่วนรายชื่อที่ ธปท.เสนอนั้น ได้แก่ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะที่บริเวณด้านหน้าที่ทำการ ธปท. ก็มี กลุ่มผู้ชุมนุมจากกองทัพธรรม กลุ่ม คปท. และ ศปปส. ที่มาแสดงพลังคัดค้าน
สำหรับคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นอกเหนือจาก นายสถิตย์ ก็จะมีกรรมการอีก 6 ราย ประกอบด้วย นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ 7.นายสุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
โดยล่าสุด ที่ประชุม ได้มีมติเลือก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย นายปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการแบงก์ชาติคนล่าสุดสิ้นสุดวาระดำรงตำแหน่ง เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา หลังการประชุมใช้เวลานานถึง 5 ชั่วโมง ตั้งแต่ 10.00 น. ถึง 15.00 น.โดยมติการคัดเลือกนี้จะถูกเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา และนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนทูลเกล้าฯ แต่งตั้งต่อไป.
สำหรับประวัติ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ชื่อเล่นว่า “โต้ง” เกิดเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2501 เป็นบุตรของ “เก่ง ณ ระนอง” และ “วิลัดดา” (สกุลเดิม หาญพานิช) สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนอัสสัมชัญ มัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2523 และปริญญาโทจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชีวิตครอบครัวสมรสกับ “เกสรา ณ ระนอง” (สกุลเดิม ธนะภูมิ) บุตรสาวของ พล.อ.พร และ เรณี ธนะภูมิ มีบุตร 3 คน คือ ต้น ต่อ และตรี ณ ระนอง โดยในส่วนของ “ต้น ณ ระนอง” ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
“กิตติรัตน์” เริ่มต้นจากการเป็น “นักธุรกิจ” ก่อนจะประสบความสำเร็จเติบโตจนเคยขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หลังจากนั้นได้นั่งเป็นบอร์ดในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระหว่างปี 2549-2551 ในยุครัฐบาลพรรคประชาชน
ต่อมาเขาเริ่มต้นเส้นทางการเมืองกับ “พรรคเพื่อไทย” โดยในปี 2554 ยุค “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ควบ รมว.พาณิชย์ ต่อมาปี 2555 ไปนั่ง รมว.คลัง ซึ่งสร้างวาทกรรมในตำนานที่ถูกกล่าวขานคือ “White Lie” หรือ “โกหกสีขาว” กรณีแถลงข้อมูลตัวเลขเป้าหมายทางเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
นอกจากเส้นทางการเมือง-ธุรกิจแล้ว เขามีความสนใจด้านกีฬาเช่นกัน โดยเคยเป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลชาติไทย ชุด 14 ปีเมื่อ ค.ศ. 2002 ชุดเอเชียนเกมส์ ค.ศ. 2006 และทีมชาติไทยชุดใหญ่ ค.ศ. 2008 นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2566 เขาเคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานสโมสรฟุตบอลพราม แบงค็อก ในไทยลีก 3 ด้วย
หลังจากการรัฐประหารปี 2557 ชื่อของ “กิตติรัตน์” ก็เงียบหายไปในทางการเมือง จะเห็นได้จากข่าวเกี่ยวกับแวดวงกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลเท่านั้น ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2562 เขาคัมแบ็กกลับมาอีกครั้ง และถูกส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ แต่ด้วยการคำนวณ สส.บัญชีรายชื่อ รูปแบบใหม่ ทำให้พรรคเพื่อไทย ไม่ได้ สส.บัญชีรายชื่อ ส่งผลให้เขาสอบตก หลังจากนั้นในปี 2563 เขาได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ให้เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2566 เมื่อพรรคเพื่อไทย รวบรวมเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯคนที่ 30 ได้แต่งตั้ง “กิตติรัตน์” ให้เป็น ประธานที่ปรึกษาของนายกฯ กระทั่งพ้นจากตำแหน่งหลัง “เศรษฐา” ถูกศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดให้พ้นเก้าอี้ โดยปัจจุบันเขาไม่มีตำแหน่งแห่งที่ในพรรคการเมืองใด และไม่ได้รับตำแหน่งใด ๆ ในรัฐบาล
ในมุมทรัพย์สิน “กิตติรัตน์” แจ้งกับ ป.ป.ช.ครั้งล่าสุด เมื่อครั้งพ้นจากตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.คลัง เมื่อ 7 พ.ค. 2557 แจ้งว่ามีทรัพย์สิน 28,485,601 บาท ได้แก่ เงินสดจำนวน 2 แสนบาท เงินฝาก 2,853,614 บาท เงินลงทุน 13,474,544 บาท ที่ดิน 1 แปลง 2 ล้านบาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 4 หลัง 8,787,443 บาท ยานพาหนะ 2 คัน 660,000 บาท สิทธิและสัมปทาน 510,000 บาท แจ้งว่ามีรายได้โดยประมาณ จำนวน 798,943 บาท เป็นเงินจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี 498,943 บาท และผลตอบแทนจากการออม 300,000 บาท รายจ่ายรวม 565,669 บาท.