นายกฯ พร้อมคุย ‘ไอติม’ แก้รธน. ย้ำไม่แตะ หมวด1-2 ยินดี ป.ป.ช. สอบ ‘ทักษิณ’ ชั้น14 รพ.ตร.

นายกรัฐมนตรี เผย พร้อมคุย “พริษฐ์ วัชรสินธุ” แก้รธน. หลัง กังวล เสร็จไม่ทันในรัฐบาลนี้ ชี้ต้องทำให้ถูกต้อง หวั่น โดนฟ้อง ย้ำ ไม่แตะหมวด1-2 พร้อมเปิดทาง ป.ป.ช.ตรวจสอบ “ทักษิณ” รักษาตัวชั้น14 รพ.ตำรวจ

วันที่ 5 พ.ย.2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังครม. ถึงกรณีที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ “ไอติม”โฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า รับฟังอยู่แล้ว มีอะไรก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคุยกัน หรือจะคุยกันอย่างเป็นทางการก็ได้

เมื่อถามว่า ได้มีการส่งหนังสือขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี มาแล้วหรือยัง น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ยังไม่มี ได้ยินจากสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก เมื่อถามว่า หากติดต่อมาจะให้พบหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ไม่ได้ติดอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า นายพริษฐ์ กังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเสร็จไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ จึงอยากจะเข้ามาขอความร่วมมือ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เราก็ต้องทำในส่วนที่ทำได้และถูกต้อง เพราะถ้าระยะยาวไปก็จะมีปัญหาภายหลัง ตนมาอยู่ตรงนี้ก็ทราบในเรื่องของปัญหาต่างๆ จำนวนมาก ถ้าเรารีบในกระบวนการจนเกินไปนอกจากจะไม่ได้ผลลัพธ์แล้วเราอาจจะโดนฟ้องกันด้วย อันนี้ก็ต้องช่วยกันดูนิดนึง

เมื่อถามว่า ธงของรัฐบาลคือต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐบาลชุดนี้ใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราต้องรับฟังความคิดเห็นให้ครบและต้องคุยกันว่าไทม์ไลน์จะเอาอย่างไรกันบ้าง พรรคเพื่อไทย (พท.) ก็ได้มีการหาเสียงไว้อยู่แล้ว ฉะนั้น จะต้องมาพูดคุยกัน โดยจะต้องไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด1-2 ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลได้พูดคุยไว้แล้ว

เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นนายกฯ และเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองว่ารัฐธรรมนูญหมวดใดเป็นอุปสรรคมากที่สุด น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ถามแบบนี้ก็จะเปิดให้มีการโต้แย้ง แต่แน่นอน เราก็ต้องทราบอยู่แล้วว่าต้องทำให้เอื้อต่อประชาธิปไตยและเอื้อต่อประชาชนให้มากที่สุด ตนขอตอบแบบนี้ก็แล้วกัน

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ขอประวัติเวชระเบียนการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเปิดเผยข้อมูลได้หรือไม่ ว่า เรื่องนี้ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการ ยินดีให้ความร่วมมืออยู่แล้ว กระบวนการจะเป็นอย่างไรก็ตามนั้น แต่ตนไม่แน่ใจในหลักหรือกฎระเบียบต่างๆ ว่าจะเปิดเผยข้อมูลได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าตามหลักกฏหมายสามารถทำได้ก็ให้ตามนั้นได้เลย

เมื่อถามว่าจะต้องปรึกษาหารือกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ผบ.ตร. ก็ออกมาพูดแล้ว เพราะต้องมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็ไม่เข้าไปแทรกแซง อย่างไรก็ตามตนก็ไม่ได้พูดคุยกับ ผบ.ตร.ในเรื่องนี้ เพียงแต่เห็นว่าได้ชี้แจงไปแล้ว ว่ามีเรื่องของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือกฎหมาย PDPA

เมื่อถามว่า จะรับมือกับกระแสในเรื่องนี้อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ยึดหลักตามกระบวนการแล้วกัน ว่าต้องทำอะไรบ้าง ในฐานะนายกรัฐมนตรีก็ต้องว่าไปตามนั้น รัฐบาลยินดีให้ตรวจสอบ จะได้ไม่กระทบต่อรัฐบาลด้วย

เมื่อถามว่า มีอะไรต้องกังวลหรือไม่เพราะเรื่องนี้อาจจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล นายกฯ กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลให้ความร่วมมือ ในทุกๆเรื่อง ก็ไม่ส่งผลกระทบแน่นอน และตนก็ยินดีและพร้อมตอบคำถามสื่อมวลชนต่างประเทศ ในโอกาสที่จะเดินทางไปประชุมในเวทีต่างๆ และเชื่อว่าไม่กระทบภาพลักษณ์ใดๆ เพราะไม่เกี่ยวกัน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password