พาณิชย์ชี้ 9 ด.แรกปี’67 ทุนต่างชาติเข้าไทย โตเฉียด 30% เงินทุนกว่า 1.3 แสนล. ทุนญี่ปุ่นนำ ตามด้วยสิงค์โปร์, จีน

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยตัวเลข 9 เดือน ปี 2567 พบต่างชาติลงทุนในไทย 134,805 ล้านบาท โดยมีญี่ปุ่นนำมาอันดับหนึ่ง 157 ราย ลงทุน 74,091 ล้านบาท ตามด้วย สิงคโปร์ 96 ราย ลงทุน 12,222 ล้านบาท และ จีน 89 ราย ลงทุน 11,981 ล้านบาท เฉพาะพื้นที่ EEC ต่างชาติลงทุนแล้ว 207 ราย หรือ 1 ใน 3 ของการนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด เพิ่มจากปีก่อน 29% วงเงินลงทุนรวมเฉียด 4 หมื่นล้านบาท และเป็นทุนญี่ปุ่นมีมากสุด 67 ราย เงินลงทุน 13,191 ล้านบาท

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะ เลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เปิดเผยว่า ในรอบ 9 เดือน ปี 2567 (มกราคม-กันยายน) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 636 ราย เป็นการลงทุน ผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 143 ราย และ การขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 493 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 134,805 ล้านบาท จ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2,505 คน

ทั้งนี้ ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 157 ราย คิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 74,091 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น ให้คำแนะนำด้านเทคนิคการตรวจสอบการกำหนดค่า รวมถึงแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การติดตั้ง และการใช้งานเครื่องจักร เป็นต้น ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการจัดเก็บสินค้า วัตถุดิบ สินค้าควบคุมอุณหภูมิ เคมีภัณฑ์ สารเคมีและวัตถุอันตราย ธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชัน ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ อุปกรณ์ระบบไฟฟ้ากำลัง เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับงานอุตสาหกรรม ชิ้นส่วนยานพาหนะ)

2) สิงคโปร์ 96 ราย คิดเป็นร้อยละ 15 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 12,222 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การตรวจสอบมาตรฐานกระบวนการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือช่างไฟฟ้า อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน เป็นต้น ธุรกิจโฆษณา โดยการให้ใช้พื้นที่บนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์, บรรจุภัณฑ์พลาสติก, ชิ้นส่วนอุปกรณ์ Optical Device)

3) จีน 89 ราย คิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 11,981 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือหรือบริษัทในกลุ่ม (บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน) ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น  ระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า แอปพลิเคชันค้นหาและใช้บริการสถานีชาร์จรถไฟฟ้า เป็นต้น ธุรกิจบริการตัดโลหะ (Coil Center) ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ชิ้นส่วนสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า แม่พิมพ์ล้อรถ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ)

4) สหรัฐอเมริกา 86 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 4,147 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม ในการให้คำปรึกษาแนะนำทางเทคนิคและฝึกอบรมเกี่ยวกับการบำรุงรักษา การซ่อมแซม การเปลี่ยนอุปกรณ์เสริมและเครื่องยนต์ของเครื่องบินพาณิชย์ ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (อาทิ รถสกูตเตอร์ไฟฟ้า และยานพาหนะไฟฟ้า เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องมือแพทย์) ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาและแนะนำในการประกอบธุรกิจด้านต่าง ๆ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน, DRUM BRAKE ASSEMBLY)

5) ฮ่องกง 46 ราย คิดเป็นร้อยละ 7 ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 14,116 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ ธุรกิจบริการฝึกอบรม ติดตั้ง บำรุงรักษา ซ่อมแซม และการปรับ (Calibration) เกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องกล ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัยธุรกิจบริการให้ใช้แอปพลิเคชันเพื่อสมัครและติดตามผลการขอสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อาทิ ชุดแบตเตอรี่ความจุสูง ชิ้นส่วนโลหะ, Printed Circuit Board Assembly : PCBA)

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 143 ราย คิดเป็นร้อยละ 29 (เดือน ม.ค. – ก.ย. 67 อนุญาต 636 ราย / เดือน ม.ค. – ก.ย. 66 อนุญาต 493 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 50,792 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60 (เดือน ม.ค. – ก.ย. 67 ลงทุน 134,805 ล้านบาท / เดือน ม.ค. – ก.ย. 66 ลงทุน 84,013 ล้านบาท) ในขณะที่มีการจ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวลดลง 3,198 ราย คิดเป็นร้อยละ 56 (เดือน ม.ค. – ก.ย. 67 จ้างงาน 2,505 คน / เดือน ม.ค. – ก.ย. 66 จ้างงาน 5,703 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน

สำหรับ การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 9 เดือน ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 207 ราย คิดเป็น 33% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 108 ราย หรือ เพิ่มขึ้น 109% (เดือน ม.ค. – ก.ย. 67 ลงทุน 207 ราย / เดือน ม.ค. – ก.ย. 66 ลงทุน 99 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 39,830 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 23,690 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 147% (เดือน ม.ค. – ก.ย. 67 เงินลงทุน 39,830 ล้านบาท / เดือน ม.ค. – ก.ย. 66 เงินลงทุน 16,140 ล้านบาท) เป็นนักลงทุนจาก *ญี่ปุ่น 67 ราย ลงทุน 13,191 ล้านบาท *จีน 54 ราย ลงทุน 7,227 ล้านบาท *ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 68 ราย ลงทุน 14,192 ล้านบาท

โดยมี ธุรกิจที่เข้าลงทุนในพื้นที่ EEC ได้แก่ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจบริการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทเข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย ธุรกิจบริการซ่อมแซมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจบริการบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น การวางแผนจัดหาและจัดซื้อชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า อาทิ ชิ้นส่วนโลหะ อุปกรณ์สำหรับรถแทรกเตอร์เพื่อการเกษตร ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นต้น

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password