‘บสย.’ ค้ำประกัน 9 เดือน ทะลุ 34,000 ล. ช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน

บสย. เดินหน้าปลดล็อก SMEs ค้ำประกันสินเชื่อ 9 เดือน 34,543 ล้านบาท ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ 70,634 คน ตอบรับการลงทุนเพิ่ม ช่วงไฮซีซันปลายปี อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เดินหน้าช่วยผู้ประกอบการแก้หนี้ยั่งยืน ผ่านมาตรการ “บสย. พร้อมช่วย” พร้อมพัฒนาศักยภาพ SMEs ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน ตลอด 9 เดือน ให้บริการรวม 21,737 ราย ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ (Success rate) ที่ 14.92% ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาล

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงาน บสย. ช่วง 9 เดือนปี 2567 (ม.ค. – ก.ย.) สามารถช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อ ผ่านกลไกการค้ำประกันของ บสย. เพิ่มสินเชื่อในระบบ และช่วยรักษาการจ้างงาน ตลอดช่วยลูกหนี้ บสย. ปรับโครงสร้างหนี้ แก้หนี้อย่างยั่งยืน ตอบโจทย์นโยบายภาครัฐ ตลอด 9 เดือน บสย. ค้ำประกันสินเชื่อได้กว่า 34,543 ล้านบาท ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 141,189 ล้านบาท

มีผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นมากกว่า 70,634 ราย แบ่งเป็นกลุ่มรายย่อยหรือ Micro SMEs ในสัดส่วนถึง 91% ค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ย 90,000 บาทต่อราย ส่วนอีก 9% เป็นกลุ่ม SMEs ค้ำประกันสินเชื่อเฉลี่ย 4.71 ล้านบาทต่อราย ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้กว่า 36,221 ล้านบาท รวมถึงรักษาการจ้างงานไม่น้อยกว่า 311,948 ตำแหน่ง ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่เป็นมาตรการรัฐ และโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ บสย. พัฒนาเอง ได้แก่

1.โครงการตามมาตรการรัฐ วงเงิน 16,942 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 65,356 ราย

2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อดอกเบี้ยถูก (พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 2) วงเงิน 9,893 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 1,543 ราย

3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อดำเนินการโดย บสย. วงเงิน 7,351 ล้านบาท ช่วย SMEs ได้สินเชื่อ 4,255 ราย

ผลงานค้ำประกันที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะโครงการ PGS 11 “บสย SMEs ยั่งยืน” ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี

หลังจาก บสย. ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันการเงิน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ถึงสิ้นเดือนกันยายน ในระยะเวลากว่า 2 เดือน มียอดค้ำประกันสินเชื่อไปแล้ว 12,048 ล้านบาท ซึ่งมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน อาทิ ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ เริ่มต้น 2 ปีแรก และสูงสุดถึง 4 ปีแรก ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกัน ด้วยอัตราค่าธรรมเนียมต่ำเพื่อลดภาระต้นทุนทางการเงินสำหรับผู้ประกอบการ โดยมีวงเงินค้ำประกันต่อรายตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 40 ล้านบาท ระยะเวลาการค้ำประกันนานสูงสุด 10 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ ตอบโจทย์ความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการลงทุนในธุรกิจและเสริมสภาพคล่อง ตลอดจนยังมุ่งเน้นมาตรการการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อการพลิกฟื้นธุรกิจจากภาครัฐ

สำหรับประเภทธุรกิจค้ำประกันสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ 1. ภาคบริการ 27.78% 2. การผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ 11.98% และ 3. อาหารและเครื่องดื่ม 9.87% ซึ่งทั้ง 3 หมวดครองสัดส่วนค้ำประกัน 50% สอดคล้องกับโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ได้รับการตอบรับสูงสุดคือ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Ignite Biz ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” มียอดค้ำประกัน 4,444 ล้านบาท โดยค้ำประกันให้กับนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐ ได้แก่ 1. การท่องเที่ยว 2. การแพทย์และสุขภาพ 3. อาหาร 4. การบิน 5. ขนส่ง 6. ผลิตยานยนต์แห่งอนาคต 7. เศรษฐกิจดิจิทัล และ 8. การเงิน


“จากตัวเลขการค้ำประกันที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงเม็ดเงินลงทุนของผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และภาคบริการที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี เพื่อรองรับฤดูกาลท่องเที่ยว ไฮซีซั่นช่วงไตรมาส 4 ที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก” นายสิทธิกร กล่าว


สำหรับความสำเร็จที่ชัดเจนของ บสย. ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา คือ การให้คำปรึกษาทางการเงิน โดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถทางธุรกิจของ SMEs ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย โดยทีมผู้เชี่ยวชาญทางการเงิน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 – 30 กันยายน 2567 ให้บริการรวม 21,737 ราย แบ่งเป็นผู้ลงทะเบียนขอรับคำปรึกษา 6,746 ราย และลงทะเบียนเข้าอบรม 14,991 ราย โดยมีความต้องการสินเชื่อ 17,000 ล้านบาท สามารถช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบ (Success rate) ที่ 14.92%


นอกจากนี้ บสย. ยังประสบความสำเร็จในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อที่ถูกเคลม ด้วยมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ “บสย. พร้อมช่วย” (มาตรการ 4 สี ม่วง เหลือง เขียว และ ฟ้า) ซึ่ง บสย. พัฒนาขึ้น เพื่อรองรับความสามารถในการชำระหนี้ ช่วยลูกหนี้ ตัวเบา ลดต้นทุนทางการเงิน มีจุดเด่นคือ ตัดต้นก่อนตัดดอก และ ดอกเบี้ย 0%


ทั้งนี้ ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา มีลูกหนี้ที่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว 2,727 ราย แบ่งเป็นลูกหนี้กลุ่มที่มีศักยภาพในการชำระคืนเงินต้นบางส่วนแต่ต้องการปลอดดอกเบี้ย (สีเขียว) สูงถึง 73% ตามด้วยลูกหนี้กลุ่มที่จ่ายไหวเพียงบางส่วน (สีเหลือง) 20% และลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง (สีม่วง) 7% โดยตั้งแต่เริ่มมาตรการดังกล่าว ในเดือน เม.ย. 2565 มีลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และได้รับการประนอมหนี้รวม 16,068 ราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 7,240 ล้านบาท

ที่สำคัญสามารถช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มสีเขียวให้สามารถปลดหนี้ และเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ผ่านการร่วมมาตรการ “ปลดหนี้” (สีฟ้า) จำนวน 114 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (มาตรการปลดหนี้ เปิดใช้เมื่อเดือนมกราคม 2567 เป็นมาตรการช่วยลูกหนี้กลุ่มสีเขียวที่ผ่อนชำระดี 3 งวดติดต่อกัน และต้องการปลดหนี้ โดย บสย. ลดเงินต้นให้ 15%)


ทั้งนี้ เพื่อสามารถเข้าถึงผู้ประกอบการ SMEs ได้ง่ายขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ SMEs’ Gateway วันนี้ นอกจากสำนักงานเขต บสย. 11 สาขาทั่วประเทศ ผู้ประกอบการสามารถลงทะเบียนขอรับคำปรึกษาผ่าน Line OA : @tcgfirst นอกจากนี้ บสย. ยังมีการให้บริการผ่าน “ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs” ที่พร้อมให้คำปรึกษาและคำแนะนำ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การแก้ปัญหาหนี้ และให้ความรู้ทางการเงิน โดยผู้ประกอบการ SMEs สามารถขอรับคำปรึกษาและตรวจสุขภาพทางการเงินเพื่อเตรียมพร้อมก่อนยื่นขอสินเชื่อ ฟรี..ไม่มีค่าใช้จ่าย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password