‘นร.-นศ.’ แห่กู้เรียนปี’67 ทะลุ 5 หมื่นล. – ทำบอร์ด กยศ. ต้องขยายกรอบวงเงินเพิ่มรับผู้กู้กว่า 8 แสนคน

“ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์” เผย! ออกมติขยายกรอบการให้กู้ยืมปีการศึกษา 2567 หลังพบ “นักเรียน-นักศึกษา” แห่กู้ยืมเงินจาก กยศ. สูงสุดเป็นประวัติการ 8.37 แสนราย วงเงิน 5.12 หมื่นล้านบาท ยอมรับบริหารองค์กรตามนโยบายรัฐ “ลดดอกเบี้ย/ค่าปรับ – ไม่ฟ้อง – ไม่ยึดทรัพย์ และอื่นๆ” ทำรายได้หาย ย้ำ! น้องๆ อยากเรียนต้องได้เรียน พร้อมจัดสรรเงินกู้ แม้โดนรัฐหั่นงบประมาณจากกว่าหมื่นล้านบาท เหลือแค่ 3,000 ล้านบาท

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2567 พบนักเรียนและนักศึกษาที่ต้องการเงินกู้ยืมเพิ่มมากขึ้นมากสุดเป็นประวัติศาสตร์นับแต่เปิดดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2539 กระทั่ง คณะกรรมการกองทุนฯ ต้องมีอนุมัติขยายกรอบการให้กู้ยืมฯ ส่งผลให้น้องๆ ผู้กู้ยืมได้รับโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้น จากเดิม 769,009 ราย เป็นจำนวน 837,009 ราย พร้อมปรับวงเงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้นจากเดิมจำนวน 48,344 ล้านบาท เป็นจำนวน 51,278 ล้านบาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการศึกษาของนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง

สำหรับ ความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืม กยศ. ได้ขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้อีก 15 ปี ปลดภาระผู้ค้ำประกันทันที และให้ส่วนลดเบี้ยปรับที่ตั้งพักไว้ทั้งหมด 100% หลังจากชำระหนี้เสร็จสิ้น ซึ่ง กยศ. ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2567 มีผู้กู้ยืมเงินเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วกว่า 168,000 ราย ทั้งนี้ ภาพรวมการรับชำระหนี้ในปีนี้ กยศ. ได้รับชำระเงินคืนจำนวน 23,359 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567)

ผู้จัดการ กยศ. ยอมรับว่า การดำเนินงานภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือผู้กู้ยืมฯ พ่อแม่ผู้ปกครอง และผู้ค้ำประกัน ด้วยการปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 1% ลดค่าเบี้ยปรับเหลือ 0.5% ขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้อีก 15 ปี ปลดภาระผู้ค้ำประกันทันที และให้ส่วนลดเบี้ยปรับที่ตั้งพักไว้ทั้งหมด 100% หลังจากชำระหนี้เสร็จสิ้น มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของ กยศ.บ้าง แต่ไม่มากจนมีนัยสำคัญ และ กยศ. ยังคงสามารถให้กู้ยืมเงินเพื่อศึกษาแก่นักเรียนและนักศึกษาที่แต่ละปีมีความต้องการสูงถึงราว 50,000 ล้านบาท ภายใต้แนวคิดที่ว่า “น้องๆ อยากเรียน…ต้องได้เรียน” แม้จะมีรายได้จากการรับชำระคืนเพียงปีละไม่ถึง 30,000 ล้านบาท และที่บริหารได้เนื่องจากความต้องการเงินกู้ฯของนักเรียนและนักศึกษาไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน แต่ทยอยตามกรอบเวลาของการเปิดภาคเรียนที่ไม่ตรงกัน

“กยศ.ไม่ได้ขอรับเงินงบประมาณจากภาครัฐมาหลายปีแล้ว โดยปีนี้เราได้เสนอของบประมาณจากรัฐบาลไปราวๆ 10,000 ล้านบาท ทว่ามีการแปรญัตติงบประมาณในชั้นกรรมาธิการ จนเหลือเพียง 3,000 ล้านบาท แต่ก็ทำให้ กยศ.บริหารจัดการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้” นายชัยณรงค์ ย้ำ

นอกจากนี้ กยศ.ยังได้ดำเนินโครงการนำร่องการให้เงินกู้ยืมในหลักสูตรอาชีพหรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ (Reskill/Upskill) หลักสูตรระยะสั้น ซึ่งเป็นการกู้ยืมฯลักษณะที่ 5 โดยขณะนี้ ได้นำร่องกับ ภาควิชาบริบาล ไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ผู้มีอายุ 16-60 ปี ได้มีโอกาสศึกษาต่อใน หลักสูตรอาชีพฯที่ตลาดมีความต้องการ โดยใช้เวลาเรียนไม่เกิน 6 เดือน เมื่อเรียนจบสามารถประกอบอาชีพและมีรายได้ทันที นอกจากภาควิชาบริบาลแล้ว ในปีหน้าก็จะมีการขยายไปยังภาควิชาชีพอื่นๆ ที่ตลาดต้องการ เช่น ผู้ช่วยทันตกรรม ภาษาต่างประเทศรองรับการทำงานทั้งในและต่างประเทศ และอาชีพอื่นๆ ที่ตลาดมีความต้องการ

“ในโอกาสนี้ กองทุนฯ ขอขอบคุณผู้กู้ยืมทุกท่านที่มีความรับผิดชอบในการชำระคืนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้อง รวมถึงขอขอบคุณหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องที่มีส่วนสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนฯ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาสให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในการเข้าถึงการศึกษาต่อไป” ผู้จัดการ กยศ. กล่าว.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password