‘บีโอไอ’ เปิดตัว Matching Fund ดันนวัตกรรมไทยสู่ตลาดโลก
บีโอไอ ออกมาตรการสนับสนุน Startup ไทย เปิดตัว Matching Fund ภายใต้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันฯ ลงเงินร่วมกับกองทุนของเอกชน (Venture Capital) โดยบีโอไอจะสนับสนุน Startup ศักยภาพสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย รายละไม่เกิน 50 ล้านบาท ติดปีก Startup ไทย ให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (บอร์ดกองทุนเพิ่มขีดความสามารถฯ) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้เห็นชอบ “มาตรการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่มีศักยภาพสูง” และออกประกาศคณะกรรมการฯ ที่ 2/2567 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อส่งเสริม Startup ไทยที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และอยู่ในระยะการระดมทุนเพื่อขยายกิจการ ตั้งแต่ระดับ Pre Series A ถึง Series A โดยบีโอไอจะให้เงินสนับสนุนแก่ Startup รายละ 20 – 50 ล้านบาท ในลักษณะการร่วมลงทุน (Matching Fund) ร่วมกับกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) ของเอกชน เพื่อสนับสนุน Startup ที่มีศักยภาพของไทยให้สามารถต่อยอดสร้างนวัตกรรม เพื่อขยายธุรกิจในตลาดโลกและเติบโตไปสู่ระดับยูนิคอร์นได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มุ่งสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
สำหรับคุณสมบัติของผู้ขอรับการส่งเสริม จะต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งตามกฎหมายไทย มีหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และกลุ่มผู้ก่อตั้ง (Founder) ต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 โดยต้องดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ เกษตร อาหาร การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ หุ่นยนต์ เป็นต้น และต้องเสนอแผนธุรกิจที่ชัดเจน โดยเฉพาะแผนการออกสู่เวทีระดับโลก เช่น แผนระดมทุนรอบถัดไปในต่างประเทศ แผนส่งออกผลิตภัณฑ์และบริการไปจำหน่ายในต่างประเทศ เป็นต้น
นอกจากนี้ มีเงื่อนไขว่าบริษัทต้องได้รับเงินทุนจากกองทุน Venture Capital (VC) มาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท และต้องมีกองทุน VC ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (Listed VC) แสดงเจตจำนงจะลงทุนเพิ่มเติม โดยบีโอไอจะพิจารณาให้เงินสนับสนุนรายละ 20 – 50 ล้านบาท แต่ต้องไม่เกินมูลค่าเงินที่ได้รับการสนับสนุนจาก Listed VC ซึ่งบีโอไอจะจ่ายเงินสนับสนุนร้อยละ 50 เมื่อบริษัทได้รับเงินสนับสนุนจาก Listed VC ตามจำนวนที่กำหนดเรียบร้อยแล้ว ส่วนอีกร้อยละ 50 จะจ่ายเมื่อบริษัทดำเนินการตามตัวชี้วัดที่กำหนดสำหรับแต่ละรายแล้วเสร็จ นอกจากเงินสนับสนุนแล้ว ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงานในบริษัทจะได้รับการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน และบริษัทยังคงสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรได้ตามมาตรการปกติของบีโอไออีกด้วย
ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อน “มาตรการส่งเสริม Startup ที่มีศักยภาพสูง” ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานกลั่นกรองโครงการ ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างบีโอไอและหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการส่งเสริม Startup เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นต้น
“แหล่งเงินทุนและบุคลากร เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเติบโตของ Startup บีโอไอจึงได้ออกมาตรการสนับสนุนทั้งสองด้านนี้ ผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยจะเป็นการทำงานร่วมกับกองทุน Venture Capital ระดับมืออาชีพ ในการร่วมกันส่งเสริม Startup ไทยที่มีศักยภาพ ให้มีเงินทุนเพียงพอในการต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ให้ขยายออกไปสู่ตลาดโลก และเพิ่มโอกาสที่จะเติบโตไปสู่ระดับยูนิคอร์นต่อไป อีกทั้งยังเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งภูมิภาคด้วย” นายนฤตม์ กล่าว