ลูกหนี้ออมสินมีลุ้น! ถอดสลักหนี้ค้างจ่าย หลังรัฐหนุนตั้ง ARI-AMC ทุนประเดิม 1 พันล.

“รองนายกฯพิชัย” คุมเอง! พิธีลงนามจัดตั้งบริษัทร่วมทุนบริหารสินทรัพย์อารีย์” แก้ปัญหาลูกหนี้ มีทุนประเดิม 1,000 ล้านบาท เริ่มรับซื้อหนี้จากแบงก์ออมสินก่อน รวมกว่า 5 แสนบัญชี วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ช่วงต้นสิงหาคมนี้ ก่อนขยายรับซื้อหนี้ไปยังแบงก์รัฐอื่นๆ ในปี 2548 คาดรอบนี้ แก้ปัญหาหนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 70-80% ย้ำ! หากไม่เร่งแก้ไข NPL จะลุกลามมากขึ้น สร้างปัญหาให้แบงก์รัฐ แถมคืนเครดิตให้ลูกหนี้ไม่ได้ จับตากลยุทธ์ “ลดแลกแจกแถม” พ่วงตัดทิ้งหนี้เสียให้ลูกหนี้ชั้นดี

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีลงนามร่วมทุนจัดตั้ง บริษัท บริหารสินทรัพย์ อารีย์ จำกัด (ARI-AMC) เพื่อแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบของรัฐบาล ระหว่างธนาคารออมสินและบมจ.บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ว่า รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของระบบเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFLs) ก็มีข้อจำกัดในการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ขาดความคล่องตัวในการบริหารหนี้ และหนี้เสียไม่ได้ถูกแก้ไข เกิดหนี้เสียหมักหมม และทำให้เกิดปัญหาขายลูกหนี้ในราคาต่ำ

การเกิดขึ้นของ ARI-AMC นอกจากช่วยแก้ปัญหาข้างต้นแล้ว ยังช่วยให้ลูกหนี้ได้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ มีโอกาสหลุดพ้นจากการเป็นผู้เสียประวัติทางเครดิตได้เร็วขึ้น สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ในอนาคต ขณะเดียวกันยังช่วยลดภาระของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวได้อีก

หากเราไม่เร่งแก้ไขปัญหาของลูกหนี้กลุ่มนี้ ลูกหนี้กลุ่มอื่นๆ ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (NPL) ก็มีเพิ่มขึ้นตามมา กลายเป็นปัญหาทั้งของสถาบันการเงินของรัฐและระบบเศรษฐกิจไทย” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ระบุ

ด้าน นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ผู้ประกอบการรายย่อย SMEs และประชาชนจำนวนมาก ขาดสภาพคล่องไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ จนกลายเป็นหนี้เสีย (NPLs) รัฐบาลจึงมอบหมายให้ธนาคารออมสินจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ในรูปแบบกิจการร่วมทุน (Joint Venture Asset Management Company : JV AMC) เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของลูกหนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) โดยเพิ่มความคล่องตัวให้สามารถแก้ไขปัญหาให้กับลูกหนี้ได้มากขึ้น เนื่องจากสามารถโอนหนี้บางส่วนของ SFIs ไปยังบริษัทร่วมทุนที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการหนี้โดยเฉพาะ

ธนาคารออมสินจึงได้ร่วมกับ BAM จัดตั้ง ARI-AMC มีวัตถุประสงค์หลักเป็นธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีกำไรในระดับที่เหมาะสมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งที่เป็น NPLs และ NPA ได้เข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้หรือไกล่เกลี่ยหนี้ มีโอกาสหลุดพ้นจากการเป็นผู้เสียประวัติทางเครดิตได้เร็วขึ้น กลับมาเป็นสถานะหนี้ผ่อนปกติหรือหนี้ปิดบัญชีจะทำให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ในอนาคต และลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบได้ ทั้งหมดนี้จะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมให้มีเสถียรภาพและช่วยลดปัญหาหนี้ครัวเรือนให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป

สำหรับ ARI-AMC จัดตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ถือหุ้นเท่ากันที่ร้อยละ 50 และมีระยะเวลาดำเนินการไม่เกินกว่า 15 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการ โดยดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ในระยะแรกจะรับซื้อและรับโอนหนี้จากธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียวก่อน เป็นการรับซื้อหนี้สินเชื่อทั่วไปทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน เป็นกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อรายย่อย SMEs รวมถึงหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ที่มีสถานะ NPLs หนี้สูญ รวมถึง NPA ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ที่ยังไม่ดำเนินคดี และดำเนินคดีแล้ว ที่ยังมีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย

บริษัทจะมีการรับซื้อหนี้ในราคายุติธรรม และคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับสอดคล้องจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นและหลากหลาย อาทิ การปรับลดเงินต้น ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ หรือการตัดหนี้บางส่วนให้กับลูกหนี้ เป็นต้น โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 จะสามารถเริ่มรับซื้อและรับโอนหนี้จากธนาคารออมสิน และจะมีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือจำนวนกว่า 500,000 บัญชี หรือคิดเป็นมูลหนี้เงินต้นกว่า 45,000 ล้านบาท และในอนาคตจะขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมการรับซื้อหนี้ประเภทอื่น รวมถึงหนี้ของ SFIs อื่น ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง” นายวิทัย ย้ำและว่า

ลูกหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นรายย่อย ซึ่ง ARI-AMC จะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว คาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาลูกหนี้กลุ่มนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 70-80% ของจำนวนลูกหนี้ที่มีในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็พร้อมจะเพิ่มทุนเพื่อให้การทำงานของ ARI-AMC สอดรับกับสถานการณ์การรับซื้อและรับโอนหนี้ต่อไป

ส่วน นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAM กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา BAM สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ให้ได้ข้อยุติมากกว่า 155,000 ราย คิดเป็นภาระหนี้กว่า 480,000 ล้านบาท และยังสามารถจำหน่ายทรัพย์สินรอการขายไปกว่า 52,000 รายการ คิดเป็นราคาประเมินกว่า 122,000 ล้านบาท  

ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของ ARI-AMC ถือเป็นอีกแนวทางที่ดีในการนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา NPLs และ NPA ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชนที่กลายเป็นหนี้เสีย โดย BAM จะให้การสนับสนุนบริษัทร่วมทุนโดยให้บริการเกี่ยวกับการรับบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่บริษัทร่วมทุนจะรับซื้อ หรือรับโอนจากธนาคารออมสิน ตลอดจนการให้บริการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทร่วมทุน

เราจะเน้นนำเทคโนโลยีทางด้านไอทีมาช่วยจัดการปัญหาลูกหนี้ที่มีมูลหนี้แต่ละรายไม่สูงมากนัก แต่มีจำนวนลูกหนี้ที่มาก ทั้งนี้ หากลูกหนี้เข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับ ARI-AMC ผ่านสาขาของธนาคารออมสินที่มีอยู่ทั่วประเทศ และสาขาของ BAM อีกกว่าสิบแห่ง เชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาหนี้เสียดังกล่าวได้เร็วขึ้นนายบัณฑิต  กล่าวและย้ำว่า

ทั้งสององค์กรมีเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ในการสานต่อนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงิน โดยจะร่วมกันวางแผนบริหารกิจการร่วมทุน วางแนวทางในการดำเนินธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ อย่างดีที่สุด มุ่งมั่นช่วยเหลือลูกหนี้ที่สุจริตให้ผ่านพ้นปัญหาหนี้สินไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะส่งผลให้หนี้เสียได้รับการแก้ไขให้กลายเป็นหนี้ดีกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจปกติต่อไป และทำให้ BAM ดำรงบทบาทหลักในการพลิกฟื้นสินทรัพย์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยได้อย่างยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ขององค์กร

อนึ่ง พิธีลงนามในครั้งนี้ ยังมี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ และ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล “2 รมช.คลัง” ร่วมเป็นประธาน และสักขีพยานในพิธีลงนาม พร้อมด้วย นายธีรัชย์ อัตนวานิช ประธานกรรมการธนาคารออมสิน และ นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ BAM รวมถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสินและ BAM เข้าร่วมงานในครั้งนี้ โดยงานจัดขึ้นเมื่อช่วงสายวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password