‘ฟาร์มอินทร์แปลง’ ต้นแบบฟาร์ม Zero Waste – SME D Bank ร่วมเส้นทางยกระดับสู่ความยั่งยืน
“ฟาร์มอินทร์แปลง” จ.ชุมพร โดยเกษตรกรหนุ่ม “ปฏิวัติ อินทร์แปลง” หรือ “เบสท์” พัฒนาฟาร์มโคนมให้ได้มาตรฐานระดับโลก ตั้งแต่มีระบบบริหารจัดการเรื่องความสะอาดปลอดภัย นำวัตถุดิบน้ำนมวัวแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์นานาชนิด ส่งตรงถึงมือผู้บริโภคอีกทั้ง มีกระบวนการกำจัดขยะให้เป็นศูนย์ หรือ Zero Waste สร้างประโยชน์แก่ชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ฟาร์มแห่งนี้จึงเป็นตัวอย่างการดำเนินธุรกิจสู่สร้างความยั่งยืน (Sustainable)
กว่าจะมาถึงวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เพราะมี ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เป็นเพื่อนเดินเคียงข้างช่วยเติมทุนคู่ความรู้ สนับสนุนให้ “ฟาร์มอินทร์แปลง” ขึ้นแท่นต้นแบบฟาร์ม Zero Waste โดยสมบูรณ์
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 18 ปีที่แล้ว เบสท์ ในวัยเพียง 14 ปี หลังพ่อเสียชีวิต ต้องลุกมาสร้างอาชีพ หารายได้ช่วยแบ่งเบาภาระของแม่ที่ทำงานโรงงาน โดยทำอาชีพเลี้ยงโคนม เพราะมีคุณตาที่ประกอบอาชีพนี้อยู่แล้ว
เด็กหนุ่มวัย 14 ปี เรียนรู้การเลี้ยงและรีดน้ำนมจากโคตัวแรกที่ได้รับจากคุณตา พร้อมตัดสินใจเขียนจดหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อขอพระราชทานโคนม เวลาผ่านไปประมาณ 4 เดือน เรื่องจริงที่ยิ่งกว่าความฝันเกิดขึ้น เมื่อโครงการส่วนพระองค์ฯ นำโคนมมามอบให้ถึงฟาร์ม
“ผมดีใจจนบอกไม่ถูกและตั้งใจยึดอาชีพนี้ไปตลอดชีวิตเพื่อสานต่ออาชีพพระราชทานให้คงอยู่ต่อไป” เขาย้อนความรู้สึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น
แม้จะไม่ได้เรียนหลักสูตรการเกษตรในสถาบันการศึกษาโดยตรง แต่ด้วยความใฝ่รู้ ศึกษาเองประกอบกับลงมือทำจริง สามารถพัฒนาฟาร์มอินทร์แปลงได้มาตรฐานเทียบเท่าสากล โดยเฉพาะ แนวคิดสร้างฟาร์ม Zero-waste พึ่งพาตนเองได้ 100%
ปฏิวัติ อธิบายถึงการทำฟาร์ม Zero-waste เริ่มตั้งแต่ กระบวนการให้อาหารวัว จากเดิมปล่อยกินหญ้ากินฟางตามธรรมชาติ ทำให้เกิดกากเปล่าประโยชน์จำนวนมากเปลี่ยนมาให้อาหารผสมสำเร็จรูปที่ผลิตขึ้นมาจากการนำอาหารหยาบ และอาหารข้นมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสม หรือ “TMR” (Total Mixed Ration) ช่วยต้นทุนค่าอาหารลดลง
ส่วนขี้วัวที่ถ่ายออกมา เฉลี่ยปริมาณ 50 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน จะนำไปทำเป็นปุ๋ยเพื่อเลี้ยงไส้เดือน นำทำเป็นปุ๋ยไส้เดือนอีกต่อหนึ่ง สร้างมูลค่าเพิ่ม จากขายปุ๋ยขี้วัวได้ราคา 2 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อทำเป็นปุ๋ยไส้เดือน ขายได้ถึง 15 บาทต่อกิโลกรัม
นอกจากนั้น น้ำขี้วัวนำไปหมักแยกกากผลิตเป็นไบโอแก๊ส ทำเป็นเชื้อเพลิงหุงต้มภายในฟาร์ม ทดแทนการสั่งซื้อแก๊สหุงต้มที่เดิมใช้กว่า 30 ถังต่อเดือน นอกจากนั้น ปุ๋ยและน้ำหมักขี้วัวที่เหลือจากที่ใช้ในฟาร์มแจกจ่ายให้เกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ด้วย กระบวนการนี้ ฟาร์มอินทร์แปลงจึงมีพลังงานสะอาดใช้หมุนเวียนฟรีไม่มีวันหมด และที่สำคัญ ไม่มีของเสียเหลือทิ้งสู่ธรรมชาติเลย
ปฏิวัติ เล่าเสริมถึง อีกแนวทางการทำธุรกิจเกษตรให้ยั่งยืน คือ ยกระดับพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำนมวัว เพื่อจะกำหนดราคาขายได้ด้วยตัวเอง และลดความเสี่ยงจากวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น
แนวคิดดังกล่าว เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง จากเดิมเคยเน้นส่งวัตถุดิบน้ำนมวัวไปยังโรงงานผลิตชีส และเนย ที่ผ่านมากิจการเติบโตด้วยดีต่อเนื่อง จากโคนม 2 ตัวแรก เคยขยายจำนวนโคนมถึง 80 ตัว แต่เมื่อประสบปัญหาโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin) ซึ่งเป็นโรคระบาดในวัว ทำให้ลูกวัวล้มตายจำนวนมาก ซ้ำเติมด้วยวิกฤตโควิด-19 โรงงานผลิตชีส เนย ร้านอาหาร และโรงแรม ถูกสั่งปิด ทำให้ไม่มีช่องทางระบายสินค้า
วิกฤตในครั้งนั้น เจ้าของฟาร์มหนุ่ม ระบุว่า กระทบรุนแรงถึงขั้น หลาย ๆ คนรอบข้าง คิดว่า ฟาร์มอินทร์แปลงคงต้องปิดกิจการแน่นอน
แต่เพราะความใจสู้ไม่ยอมแพ้ ประกอบกับมี SME D Bankธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย เป็นเพื่อนร่วมเส้นทางธุรกิจ เข้ามาช่วยเติมทุนซื้อเครื่องจักรพร้อมสนับสนุนให้แปรรูปน้ำนมวัวเป็น “ไอศกรีมเจลาโต้” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เก็บรักษาได้นาน และสามารถเปิดตลาดหาลูกค้ากลุ่มใหม่ได้ด้วย ทำให้ฟาร์มอินทร์แปลงมีรายได้และช่องทางขายใหม่มาเสริมทดแทนส่วนที่ขาดหายไป จนประคับประคองก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้ และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ผลิตภัณฑ์ไอศกรีมเจลาโต้ กลับกลายเป็นสินค้าขายดี จนผลิตไม่ทัน และทุกวันนี้ เป็นเรือธงที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน
“SME D Bank เรียกได้ว่าเป็นเพื่อนร่วมธุรกิจ เวลามีปัญหาในเรื่องของการเงินก็ดี หรือต้องการความช่วยเหลือในเรื่องการต่อยอดผลิตภัณฑ์ก็ดี SME D Bank จะเป็นที่พึ่งหลักของฟาร์มอินทร์แปลง จากอดีตจนถึงปัจจุบันเลยครับ” ปฏิบัติ ระบุ
ปัจจุบัน ฟาร์มอินทร์แปลง มีสัดส่วนรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น น้ำนมพาสเจอไรส์ เนย ชีส โยเกิร์ต และไอศกรีมเจลาโต้ส่งตรงถึงผู้บริโภคกว่า 90% เหลือส่งวัตถุดิบให้โรงงานเพียงประมาณ 10% เท่านั้น แตกต่างจากอดีตที่ต้องพึ่งพาการส่งวัตถุดิบให้โรงงานเป็นหลัก นี่จึงเป็นอีกแนวทางสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจเกษตร สามารถยืนอยู่ได้บนขาตัวเอง
ภาพการเติบโตและพึ่งพาตัวเองได้100% ของฟาร์มอินทร์แปลงในวันนี้ จึงเป็นบทพิสูจน์ว่าฟาร์มZero Waste สามารถทำได้จริง และพร้อมก้าวต่อไปสู่ความยั่งยืน.