ค้านหัวชนฝา! แผนดูดเงินนายจ้าง 5 ล.ล. จมกับกองทุนความเสี่ยง จี้! ยกเลิก ร่าง กม.ค่าชดเชยฯด่วน!

ตัวแทน 16 สภานายจ้าง! ตบเท้ายื่นหนังสือค้าน ร่าง กม.ค่าชดเชยความเสี่ยง ที่เรียกเก็บเงินจากนายจ้างทุกระดับ ผ่าน ทีมพัฒนาประกันสังคม เหตุเพราะ “หัวหน้าทีมฯ” เป็นหนึ่งในบอร์ดกองทุนความเสี่ยง กระทรวงแรงงาน ชี้! กฎหมายตัวนี้ไม่เป็นธรรมกับนายจ้าง! ย้ำ! ไม่เพียงทำลาย “กลุ่มนายจ้างไทย-ต่างชาติ” เพราะต้องจ่ายเงินสมทบรวมกัน 3-10% ต่อเดือน ดูดเม็ดเงิน 5 แสนล้านจมในบัญชีเงินฝากธนาคาร ยังอาจทำลายบรรยากาศการลงทุนในไทย จนนักลงทุนพากันย้ายหนีไปต่างประเทศ ด้าน “ดร.ทวีเกียรติ รองสวัสดิ์” รับลูกอย่างไว! นัดหมายเข้าพบ รมว.แรงงานวันพรุ่งนี้ (22 ธ.ค.) ทันที!

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 21 ธ.ค.2566 ณ ห้องเทเวศร์รำลึก สโมสรกองทัพบก, ตัวแทน 16 สภาองค์การนายจ้าง นำโดย นายชิตโชค สิงหรา ประธานสภาองค์การนายจ้างธุรกิจการค้าและบริการไทย (สภา 9) และ นายประสาน ทองทิพย์ ตัวแทนสภาองค์การนายจ้าง เข้ายื่น หนังสือคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ค่าชดเชยความเสี่ยงฯ หรือ กฎหมายกองทุนความเสี่ยงฯ ต่อ ทีมพัฒนาประกันสังคม ซึ่งอยู่ระหว่างการลงรับสมัครเลือกตั้งเป็น “บอร์ดประกันสังคมฝั่งนายจ้าง” ในวันที่ 24 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ โดยมี ดร.ทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ หัวหน้าทีมฯและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกองทุนความเสี่ยง กระทรวงแรงงาน เป็นตัวแทนรับหนังสือดังกล่าว ก่อนจะร่วมกันแถลงข่าวในประเด็นการคัดค้าน ร่างกฎหมายกองทุนความเสี่ยงฯ

นายประสาน ทองทิพย์ ตัวแทนสภาองค์การนายจ้าง กล่าวว่า ร่างกฎหมายกองทุนความเสี่ยงฯ เกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว แต่กระทรวงแรงงานได้หยุดดำเนินการไประยะหนึ่ง กระทั่ง ปลายสมัย รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้จัดให้มีการประชุมฯเพื่อเดินหน้ากฎหมายดังกล่าวเมื่อเดือน ม.ค.2566 และกำลังจะมีการประชุมฯครั้งใหม่ในเดือน ม.ค.ปีหน้า ดังนั้น ทางตัวแทนสภาองค์การนายจ้างจึงได้ดำเนินการยื่นเรื่องดังกล่าวต่อ ทีมพัฒนาประกันสังคม ที่มีโอกาสสูงจะเข้าไปเป็น “บอร์ดประกันสังคมฝั่งนายจ้าง”

สำหรับ ร่างกฎหมายฉบับนี้ ถือว่าเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งสำหรับนายจ้าง ทั้งนี้ การออกกฎหมายใดๆ ก็ตาม ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องได้รับประโยชน์เหมือนกัน แต่กฎหมายดังกล่าวสร้างปัญหากับนายจ้างอย่างมาก โดยภาครัฐจะบังคับให้นายจ้างทุกราย ไม่ว่ามีพนักงานเพียงคนเดียว หรือมากนับหลายหมื่นคนจะต้องจ่ายเงินสมบทเข้ากองทุนฯในอัตรา 3-10% ต่อเดือน ซึ่งถือเป็นภาะของฝ่ายนายจ้างอย่างมาก

“ผมเป็นตัวแทนของกลุ่มนายจ้างทั้งหมดซึ่งมากกว่า 16  สภา ไม่ว่าจะเป็นสมาคมนายจ้าง สภาอุตสาหกรรม หอการค้า สมาคมพ่อค้าไททย และอีกหลายองค์กรที่ไม่สะดวกมาวันนี้ ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับกองทุนความเสี่ยงที่กระทรวงแรงงานจะจัดตั้งขึ้น  เพราะจะส่งผลอย่างมากต่อการเงินของบริษัทในการสำรองเงิน  ทุกวันนี้เศรษฐกิจทั่วโลกขาลงทั้งในประเทศไทยเราและต่างประเทศ การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวทำให้บริษัทขาดสภาพคล่องได้ นายประสาน ย้ำ

ด้าน นายชิตโชค สิงหรา ประธานสภาองค์การนายจ้างธุรกิจการค้าและบริการไทย (สภา 9) กล่าวเสริมว่า การจัดเก็บเงินเข้ากองทุนความเสี่ยงฯถือเป็นการจัดเก็บเงินที่ซ้ำซ้อนกัน ทุกวันนี้ ก็มีการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนฯ ซึ่งนายจ้างมีส่วนในการจ่ายเงินสมบทอยู่ รวมถึงการจ่ายสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการอื่นๆ ให้กับลูกจ้างเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ตนจึงขอคัดค้านการออกกฎหมายฉบับนี้ พร้อมกับเสนอให้ภาครัฐ โดยกระทรวงแรงงาน ได้ใช้กองทุนที่มี โดยเฉพาะกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนฯ เข้ามาดูแลผลประโยชน์ ผ่านการจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง กรณีหากนายจ้างเจ้าของกิจการธุรกิจห้างร้านใดๆ ได้ปิดกิจการลงไป แทนการจัดตั้งกองทุนความเสี่ยงฯให้มาเป็นภาระของฝ่ายนายจ้าง

ขณะที่ ดร. ทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ หัวหน้าทีมพัฒนาประกันสังคม และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการกองทุนความเสี่ยง กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีลูกจ้างทั้งที่อยู่ในระบบประกันสังคมราว 5 แสนราย และนอกระบบประกันสังคมอีกกว่า 1 ล้านราย โดยหากภาครัฐจะผลักดัน ร่างกฎหมายดังกล่าวออกมา ย่อมเป็นภาระทางการเงินของนายจ้าง ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการไทยและนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งนี้ หากคำนวนเม็ดเงินที่นายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันความเสี่ยงแล้ว คาดว่าจะมีเงินไม่ต่ำกว่า 4-5 ล้านล้านบาท ใหญ่กว่ากองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนฯที่มีเงินทุนรวมกันราว 3 ล้านล้านบาท

การดึงดันของรัฐบาลอาจทำลายบรรยากาศการลงทุนในประเทศไทยได้ นักลงทุนต่างชาติรายใหม่ก็ไม่อาจเข้ามาลงทุน ขณะที่นักลงทุนฯรายเก่าก็อาจย้ายหนีไปจากเมืองไทย แม้กระทั่ง นักลงทุนไทยเอง ก็อาจย้ายไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้ เพราะนักลงทุนเหล่านี้ ต่างเกาะติดข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายการใช้อำนาจรัฐ ทั้งเรื่องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง ที่เป็นการเพิ่มภาระของนักลงทุน รวมถึงนโยบายของรัฐในเรื่องอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย” หัวหน้าทีมพัฒนาประกันสังคม ระบุและว่า…หนทางเดียวที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาคือ ล้มเลิกร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะแม้จะภาครัฐจะปรับลดเงื่อนไข ทั้งเรื่องการลดสัดส่วนจ่ายเงินสมทบหรือเงื่อนไขอื่นๆ ก็ยังจะเป็นภาระของกลุ่มนายจ้างอยู่ดี

ดร. ทวีเกียรติ กล่าวว่า ไม่ว่า ทีมพัฒนาประกันสังคม จะได้รับเลือกเป็น “บอร์ดประกันสังคม” หรือไม่ก็ตาม ตนในฐานะตัวแทนฝ่ายนายจ้าง และเป็นหนึ่งใน คณะกรรมการกองทุนความเสี่ยง กระทรวงแรงงาน ก็พร้อมจะสานงานต่อไป โดยในวันพรุ่งนี้ (22 ธ.ค.) ตนจะเข้าพบ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อส่งต่อหนังสือคัดค้าน ร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อไป

สำหรับ สภาองค์การนายจ้างทั้ง 16 สภา ประกอบด้วย…สมาคมนายจ้าง  สภาอุตสาหกรรม หอการค้า สมาคมพ่อค้าไทย ในฐานะตัวแทนนายจ้าง กรรมการผู้จัดการบริษัท และห้างร้านต่างๆ ทั่วประเทศ โดยได้ร่วมกัน จัดทำหนังสือคัดค้านการจัดตั้งกองทุนความเสี่ยงดังกล่าว ที่มีแนวคิดในการจัดเก็บเงินชดเชยไว้ก่อนล่วงหน้าจากนายจ้าง ซึ่งจะทำให้นายจ้างต้องจัดหาเงินจำนวนมหาศาลมาจ่ายให้กับกองทุนความเสี่ยงนี้ และหากนายจ้างรายใดไม่สามารถจ่ายเงินชดเชยไว้ก่อนลวงหน้าได้ จะเป็นผลให้ บริษัท ห้างร้าน หรือ นายจ้างรายนั้นถูกดำเนินคดี และถูกสั่งปิดกิจการ ซึ่งจะทำให้ส่งผลต่อเศรษฐกิจขอประเทศในภาพรวมอย่างแน่นอน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password