เปิดไทม์ไลน์เงินกู้ Reskill/Upskill – ม.ค.ปีหน้าทำ MOU พร้อมให้กู้เงินเรียน ‘บริบาล’ ทันที!

กยศ.เปิดไทม์ไลน์โครงการเงินกู้ฝึกอาชีพระยะสั้น (Reskill/Upskill) ระบุ! ธ.ค.66 จะเร่งคลอดระเบียบการกู้ยืมฯ ถัดไป ม.ค.67 เชิญสถานศึกษาในโครงการฯมาทำ MOU ร่วมกัน ก่อนเปิดให้ผู้สนใจกู้ยืมเรียนทันที ด้าน “ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์” เผย! ข้อมูลวิชาการร่วม ม.ธรรมศาสตร์ สร้างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมจากการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษามีสูงถึง 2.48 เท่า แถมก่อประโยชน์ต่อชาติถึง 5 ด้าน “การพัฒนาการศึกษา – การพัฒนาเศรษฐกิจ – การมีงานทำ – สาธารณสุข – ส่งเสริมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของประเทศ” เชื่อ! จากนี้ แนวคิดการศึกษาของชาติจะเปลี่ยนไป หันมาเน้นหลักสูตรฝึกอาชีพระยะสั้นมากขึ้น

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวถึงความคืบหน้า โครงการนำร่องการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาสำหรับผู้กู้ยืมในหลักสูตรอาชีพ หรือเพื่อยกระดับทักษะ สมรรถนะ หรือการเรียนรู้ (Reskill/Upskill) ว่า ภายในเดือนธันวาคมนี้ กยศ.จะเร่งจัดทำระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการให้กู้ยืมฯ เพื่อเสนอให้ที่ประชุม บอร์ด กยศ.ได้พิจารณา คาดว่าจะแล้วเสร็จทันภายในปีนี้ เพื่อที่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป จะได้ทำสัญญากับโรงเรียนบริบาลต่างๆ พร้อมกับเปิดให้ผู้ที่สนใจได้ยื่นขอกู้ยืมเงินเพื่อเรียนในหลักสูตรวิชาชีพบริบาล ซึ่งเป็นโครงการนำร่องในระยะแรก ก่อนจะขยายผลในระยะต่อๆ ไปกับหลักสูตรฝึกวิชาชีพระยะสั้นอื่นๆ

“ปัจจุบัน กองทุนฯได้ทำ MOU กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เรียบร้อยแล้ว และได้แต่งตั้ง คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานฯ ที่มี รองผู้จัดการ กยศ. (ดร.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ) เป็นประธานฯ คาดว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป กองทุนฯก็น่าจะทำ MOU กับสถานศึกษา (รร.บริบาล) ต่างๆ ได้ และนักเรียนสามารถยื่นเรื่องขอกู้ได้เลย ผจก. กยศ. ย้ำ

สำหรับ โครงการ Reskill (การสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน) และ Upskill (การยกระดับทักษะเดิม) นั้น กยศ. จะให้กู้ยืมฯแก่ผู้มีสัญชาติไทย อายุ 18 – 60 ปี โดยให้กู้ต่อคนไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี กำหนดระยะผ่อนปรน โดยไม่ต้องชำระคืนเงินกู้ใน 2 ปีแรก หลังจากเรียนจบและทำงาน (เริ่มผ่อนในปีที่ 3 และ 4) ทั้งนี้ ผู้กู้ฯจะต้องผ่อนชำระคืนเป็นเงิน 2,000 บาทต่อเดือน รวมทั้งสิ้น 25 เดือน หากมีการผิดนัดชำระ จะเสียค่าปรับเพียง 0.5% ต่อปี

ผจก. กยศ. ระบุว่า เหตุเลือกวิชาชีพบริบาลเป็นโครงการนำร่อง เพราะเป็นวิชาชีพที่ตลาดแรงงานมีความต้องการอย่างมาก เนื่องจากอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนเป็นจำนวนมาก จึงมีโอกาสสูงที่ผู้เรียนจบ จะได้ทำงานและมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือนขึ้นไป อย่างไรก็ตาม รร.บริบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด กล่าวคือ หลักสูตรการเรียนการสอนจะต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ และจะต้องสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) หรือกระทรวงศึกษาธิการ

“กองทุนฯเชื่อว่าการกำหนดวงเงินกู้เพื่อการเรียนหลักสูตร์วิชาชีพระยะสั้น (วิชาชีพบริบาล) ที่ 50,000 บาทต่อคนจะเพียงพอ เนื่องจากค่าเรียนตลอดหลักสูตร 6 เดือน ซึ่ง รร.บริบาลแต่ละแห่งจะคิดอยู่ราวๆ 30,000 – 40,000 บาท และมีเงินเหลือพอที่จะเรียนหลักสูตรวิชาชีพบริบาลด้วยภาษาต่างประเทศ (อังกฤษ) เพื่อการสื่อสารแบบง่ายๆ หากจะมี รร.บริบาลแห่งใดเปิดทำการเรียนการสอน ซึ่งนั่นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน/ผู้กู้ เพราะจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่างานบริบาลปกติทั่วไป” นายชัยณรงค์ กล่าวและย้ำว่า…

ทุกวันนี้ มีชาวต่างชาติเดินทางมาทำงาน หรือท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นระยะเวลานานกว่า 1 เดือน และบางครั้งก็มีผู้สูงอายุติดตามมาด้วย ซึ่งนั่นจะเป็นโอกาสให้กับผู้เข้าอบรมในวิชาชีพบริบาลเป็นภาษาต่างประเทศ จะได้เข้าไปดูแลผู้สูงอายุชาวต่างชาติเหล่านี้

สำหรับเฟสต่อไปนั้น เบื้องต้น กยศ.จะพิจารณาหลักสูตรและวิชาชีพที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูง เมื่อผู้กู้ฯผ่านการฝึกอบรมแล้วจะต้องมีงานทำแน่นอน เช่น หลักสูตรสอนช่างเชื่อม โดยเฉพาะ ช่างเชื่อมใต้น้ำ, หลักสูตรช่างซ่อมแอร์, ช่างซ่อมลิฟท์, ช่างตัดผม รวมถึง หลักสูตรสอนภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างหลังนี้ พบว่า มีเจ้าของกิจการชาวต่างชาติ อาทิ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เดินทางมารับสมัครคนงานฯในประเทศไทย โดยกำหนดเงื่อนไขว่า หลังจากทำสัญญาว่าจ้างระหว่างกันแล้ว คนงานฯเหล่านั้นจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมทางด้านภาษาของประเทศที่จะเข้าไปทำงาน โดยเจ้าของกิจการชาวต่างชาติจะลงไปดู รร.สอนภาษาเหล่านั้นว่ามีคุณภาพมากพอจะทำให้คนงานฯสามารถสื่อสารกับนายจ้างฯได้หรือไม่ ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มเปิดโครงการฯในระยะต่อไป (เฟส 2) ราวไตรมาส 2 ของปี 2567

ส่วนวงเงินที่ใช้ในโครงการฯนี้ เบื้องต้น กยศ.กำหนดไว้ที่ 3,000 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินรวมที่ให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในโครงการปกติ เฉลี่ยปีละ 40,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หากเฟสแรกประสบผลสำเร็จ กระทั่ง เริ่มดำเนินการต่อในเฟสที่ 2 และเฟสต่อๆ ไป กยศ.ก็พร้อมจะเสนอขอวงเงินเพิ่มเติมจากบอร์ก กยศ. ซึ่งก็ไม่มีปัญหาในเรื่องเงินงบประมาณ เนื่องจาก กยศ.มีเงินที่ใช้ในการดำเนินงานเป็นระบบเงินทุนหมุนเวียนจากการที่ผู้กู้ในโครงการปกติทำการผ่อนชำระคืนกลับมาในทุกๆ เดือน โดยไม่จำเป็นจะต้องของบประมาณจากรัฐบาลแต่อย่างใด

นายชัยณรงค์ กล่าวอีกว่า โครงการ Reskill/Upskill ไม่เพียงจะเปลี่ยนแนวคิดการเรียนการสอนในประเทศไทย เนื่องจากเยาวชนและประชาชนบางส่วนจะหันมาเรียนหลักสูตรฝึกวิชาชีพระยะสั้น (6 เดือน) เพิ่มมากขึ้นแทนที่จะเรียน 4 ปีในการเรียนการสอนทั่วไป อีกทั้ง โครงการดังกล่าวยังจะสอดรับกับ แนวนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมจะปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ และบางวิชาชีพก็ไปสนับสนุนกับ นโยบายซอฟท์พาวเวอร์ ของรัฐบาล ซึ่งเตรียมจะดำเนินงานเชิงรุกในปีหน้า ซึ่งนั่นจะเป็นการเปิดและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้สนใจเข้าอบรมในโครงการฯของกยศ. ดังนั้น ในส่วนของ สถานบันการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปเอง ก็อาจต้องพิจารณาปรับเพิ่มหลักสูตรการเรียนการสอน “ระยะสั้น” (6 เดือน) ในสาขาวิชาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานควบคู่กันไป เพื่อที่จะได้ไม่สูญเสียโอกาส หากคนรุ่นใหม่ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่องการเรียนการสอนในสถานการณ์นี้

“หลายคนอาจเคยรู้สึกท้อใจกับชีวิตช่วงที่ผ่านมา ไม่รู้จะทำงานอะไร บางคนคิดว่าตัวเองอายุมากแล้ว คงหมดโอกาสในการทำงานใหม่ๆ ซึ่ง โครงการ Reskill/Upskill ของ กยศ. จะช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับคนไทย ไม่ว่าจะเป็นคนหนุ่มสาว หรือคนสูงวัย โดยกองทุนฯจะให้โอกาสในการกู้ยืมเพื่อเข้าอบรมในวิชาชีพที่ตลาดแรงงานมีความต้องการ เมื่อเรียนจบจะต้องมีงานทำอย่างแน่นอน เพื่อให้คนเหล่านั้น ได้มีรายได้และเป็นเสาหลักของครอบครัวตนเอง” ผู้จัดการ กยศ.ย้ำและว่า…

ทุกคนที่เกิดบนแผ่นดินไทย เป็นคนไทยจะต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาและโอกาสในการประกอบวิชาชีพ ความยากจนจะไม่เป็นอุปสรรคของการศึกษาอีกต่อไป

สำหรับ ความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจและสังคม ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาทั้งใน ระบบปกติ (หลักสูตร 4 ปี) และ หลักสูตรฝึกวิชาชีพระยะสั้น (6 เดือน) นั้น ผจก. กยศ. ยืนยันว่า จะต้องมีอย่างแน่นอนและอยู่ในอัตราที่สูง จากข้อมูลตัวเลขที่ กยศ. ทำศึกษาวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา พบว่า เงินที่ให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาในทุกๆ 100 บาทนั้น จะได้รับผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment : SROI) กลับคืนมาเฉลี่ยสูงถึง 2.48 เท่า ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังสอดคล้องกับมิติที่เกี่ยวข้อง 5 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการพัฒนาการศึกษา 2.ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ 3.ด้านการมีงานทำ 4.ด้านสาธารณสุข และ 5.ด้านส่งเสริมทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของประเทศ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password