รมช.คลัง แจงผลประชุม IMT-GT ที่อินโดฯ – โชว์เมกกะโปรเจ็กต์ 2.1 ล.ล. – ดึง ADB หนุนพัฒนายั่งยืน

“จุลพันธ์  อมรวิวัฒน์” แจงผลประชุมระดับ รมต. ครั้งที่ 29 ช่วง 28 – 29 ก.ย.66 ณ เมืองบาตัม อินโดนีเซีย ย้ำ! แผนงาน 3 ประเทศ “IMT-GT” ของไทยคืนหน้าหลายโครงการ เผย! เดินหน้าหลายโครงการยักษ์ PCPs มูลค่ากว่า 2.1 ล้านล้านบาท ลั่นเอาแน่! ผุด Land Bridge ชุมพร-ระนอง ระบุ! แยกคุยทวิภาคีร่วม ADB หนุนไทยเน้นผลักดันการพัฒนายั่งยืนและเป็นมิตร สวล. รวมถึงพัฒนาตราสารหนี้และสร้างเครื่องมือการเงินสู้ความเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตอันใกล้

นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) แถลงว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันอังคารที่ 26 ก.ย. 2566 มอบหมายให้ตนเป็นรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT และเดินทางเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT ณ เมืองบาตัม จังหวัดหมู่เกาะเรียล สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในระหว่างวันที่ 28 – 29 กันยายน 2566 เพื่อเข้าร่วมหารือกับรัฐมนตรีประสานงานกิจการเศรษฐกิจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ประเทศมาเลเซียโดย IMT-GT เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงของ 3 ประเทศ โดยได้มีการหารือในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

1. แผนงานการก่อสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects: PCPs) แผนงาน PCPs เป็นแผนงานที่มีมูลค่ารวมกว่า 2.10 ล้านล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาโครงการของไทยที่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมคือ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างด่านศุลกากรสะเดา-บูกิตกะยูฮิตัม โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) นอกจากนี้ ไทยจะมี การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในภาคใต้ อาทิ โครงการก่อสร้าง Motor Way หาดใหญ่-สะเดา โครงการก่อสร้าง Land Bridge ชุมพร-ระนอง 

2. โครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง แผนงาน IMT-GT มีความก้าวหน้าที่ต่อยอดมาจากการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย โครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง ซึ่งได้ลงนามในการประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายน 2565 MOU นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการอำนวยความสะดวกการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้สู่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ 

3. ความร่วมมือด้านการเงินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศไทยโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยและอินโดนีเซีย ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิด การชำระเงินระหว่างประเทศผ่านทาง QR Code เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสามารถชำระเงินเพื่อการซื้อขายสินค้าและบริการได้โดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงิน และได้แจ้งฝ่ายมาเลเซียเพื่อให้การสนับสนุนเพื่อสร้างความร่วมมือในลักษณะเดียวกันต่อไป

ในการนี้ ที่ประชุมได้ให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันของประเทศสมาชิก IMT-GT ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงการผลักดันให้พื้นที่อนุภูมิภาค IMT-GT พัฒนาไปอย่างยั่งยืนบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของไทยในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาที่สำคัญในอนุภูมิภาค IMT-GT ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะส่งผลให้ไทยมีบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์และมีความร่วมมือกับนานาชาติในลักษณะที่จะเกื้อหนุนต่อความก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน รวมไปถึงการสร้างผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ 

อนึ่ง ในวันที่ 28 ก.ย. รมช.คลังได้มีโอกาสหารือทวิภาคีกับ Mr. Winfried F. Wicklein ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ในประเด็นที่ประเทศไทยต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน เช่น ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond: SLB) และ การสร้างความร่วมมือทางการเงินเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตอันใกล้นี้ โดย ADB ได้ตอบรับประเด็นดังกล่าวและจะให้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password