กยศ.ต่อยอด ‘ทุนมนุษย์’ ให้กู้รีสกีล สร้างอาชีพระยะสั้นกระตุ้นเศรษฐกิจ

เยาวชนไทยสนใจใฝ่รู้เพิ่มพรวด! ทำยอดกู้เงินเรียนต่อกับ กยศ. ปี 2566 พุ่งเกินคาด 13% จากเดิม 4.079 หมื่นล้านบาท เป็น 4.617 หมื่นล้านบาท ยัน! ลดฟ้องดำเนินคดีเบี้ยวเงินกู้ เลือกเฉพาะคดีที่ใกล้ขาดอายุความเท่านั้น ลั่น! สิ้นปีนี้ เปิดทำสัญญา “ระงับข้อพิพาท-ปรับโครงสร้างหนี้” แบบผ่อนปรนสุดๆ ตามเงื่อนไข กม.ใหม่ พร้อมเปิดให้กู้โปรเจ็กค์ใหม่ Reskill Upskill เงินกู้หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น นำร่องหลักสูตรบริบาล พ่วงขอเพิ่มงบฯปี 2567 หนุนสภาพคล่องอีกว่าหมื่นล้านบาท หวังต่อยอด “ทุนมนุษย์” กระตุ้นเศรษฐกิจไทย

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผจก.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แถลงว่า คณะกรรมการกองทุนฯมีมติอนุมัติขยายกรอบการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2566 จากเดิม 40,790 ล้านบาท เป็น 46,168 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 6,000 ล้านบาท รองรับนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมที่เพิ่มขึ้นจากประมาณการกว่า 117,000 ราย จากเดิมที่ตั้งไว้ 643,256 ราย เป็น 760,256 ราย ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาและผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ กยศ.เตรียมออกโครงการใหม่ “เงินกู้ยืมในหลักสูตร Reskill Upskill” ซึ่งเป็นหลักสูตรฝึกวิชาชีพระยะสั้นเพื่อประกอบวิชาชีพที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจุบัน นำร่องให้กู้ในกลุ่มโรงเรียนบริบาล ดูแลผู้สูงอายุ และเด็กทารก-ก่อนวัยเรียน เพื่อเป็นการขยายโอกาสในการศึกษาที่หลากหลาย คาดว่าจะสามารถเริ่มให้เงินกู้ยืมได้ภายในปีนี้ หรืออย่างช้าไม่เกินไตรมาสแรกปีหน้า

สำหรับผู้ที่อยู่ข่ายกู้ยืมเงินในหลักสูตรฯดังกล่าว จะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 60 ปี กู้ได้ไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ปลอดหนี้เป็นเวลา 2 ปี เริ่มชำระคืนในปีที่ 3 ผ่อนไม่เกิน 2,000 บาท/เดือน โดยเตรียมวงเงินสำหรับโครงการนี้ในช่วงนำร่องประมาณ 2,000 ล้านบาท คาดจะมีผู้สนใจในช่วงนำร่องไม่เกิน 200 คน ใช้วงเงินกู้รวมเบื้องต้นไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จากนั้น จะขยายสู่ เฟสที่ 2 เพิ่มหลักสูตรฝึกวิชาชีพระยะสั้น ไปยังสาขาอาชีพอื่นๆ เช่น หลักสูตรเสริมสวย, หลักสูตรผู้ช่วยทันตกรรม, หลักสูตรสอนการเรียนภาษา รวมถึงหลักสูตรช่างต่างๆ โดยเฉพาะ “ช่างเชื่อมใต้น้ำ” ที่ให้ผลตอบแทนสูง เป็นต้น

ส่วน การดำเนินงานตลอดปีที่ผ่านมานั้น กยศ.ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของผู้กู้ยืมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กฎหมายที่ได้แก้ไขใหม่ได้กำหนดให้คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 1% ต่อปี อัตราเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระไม่เกิน 0.5% ต่อปี ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี ปรับลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่โดยหักจากเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ พร้อมยกตัวอย่าง ผู้กู้ยืมมีภาระผ่อนชำระหนี้ 10,000 บาท/เดือน จากเดิมเงินก้อนนี้จะถูกนำไปชำระคืนดอกเบี้ยก่อน เหลือเท่าไหร่จึงนำไปหักคืนหนี้เงินต้น แต่จากกฎหมายใหม่ กำหนดให้เงิน 10,000 บาท แบ่งเป็น 80% หรือ 8,000 บาท ไปหักคืนเงินต้น ที่เหลือ 20% หรือ 2,000 บาทจึงนำไปหักดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ผู้กู้ยืมเหลือหนี้เงินต้นลดลงทุกเดือน และเป็นประโยชน์ต่อผู้กู้ยืมมากที่สุด

นอกจากนี้ กยศ.ยังเปิดโอกาสให้ ผู้กู้ยืมสามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขที่กองทุนกำหนด สำหรับ การปรับโครงสร้างหนี้ตาม พ.ร.บ. กยศ. ใหม่นั้น คาดว่าจะเปิดทำสัญญาระงับข้อพิพาทก่อนฟ้องและสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ก่อนฟ้องและหลังฟ้องทุกกลุ่มเข้ามาดำเนินการได้ในช่วงปลายปีนี้ และจะปลดภาระผู้ค้ำประกันเมื่อผู้กู้ยืมเงินได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วเสร็จ

การปรับโครงสร้างหนี้ จะช่วยให้ผู้กู้ยืมที่นัดชำระ ได้กลับเข้าสู่ระบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ทั้งนี้ กยศ. พยายามจะไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กู้ยืมที่ผิดนัดชำระ ยกเว้น! กรณีที่คดีจะหมดอายุความ จำเป็นต้องฟ้องเพื่อรักษาสิทธิในการเรียกเก็บหนี้ แต่ก็จะผ่อนปรนตามเงื่อนไขของกฎหมายใหม่ให้มากที่สุด” ผจก.กยศ. ย้ำและว่า ก่อนหน้านี้มีกรณีที่จะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กู้ยืมราว 1.5 แสนคดีต่อปี ปัจจุบันเหลือเพียง 80,000 คดีต่อปี แต่ที่ฟ้องร้องดำเนินคดีจริงๆ แค่ปีละกว่า 1,000 คดี ด้วยเหตุข้างต้นคือ จำเป็นต้องฟ้องเพื่อรักษาสิทธิฯเท่านั้น

นายณรงค์ชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กยศ.ได้ให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 6.5 ล้านราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 734,127 ล้านบาท ประกอบด้วย ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการศึกษา/ปลอดหนี้ 1,138,102 ราย ผู้กู้ยืมที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว 1,819,051 ราย ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,548,923 ราย และผู้กู้ยืมเสียชีวิต/ทุพพลภาพ 71,518 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566) สำหรับภาพรวมการรับชำระหนี้ในปีนี้ กยศ.ได้รับชำระเงินคืนจำนวน 25,719 ล้านบาท

ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายแบ่งจ่ายเงินเดือน 2 รอบนั้น เชื่อว่าจะไม่กระทบกับการชำระหนี้ กยศ. เนื่องจาก การชำระหนี้จะเกิดขึ้นหลังจากผู้กู้ยืมได้รับหนังสือจาก กยศ.แล้ว จึงจะชำระหนี้ดังกล่าวได้ ส่วนปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินงาน ยอมรับว่าเงินที่มีเข้ามา (ชำระคืนหนี้) มีน้อยกว่าเงินที่ออกไป (ทะยอยให้เงินกู้ฯ) แต่ก็ยังไม่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม กยศ.ได้เสนอของบประมาณฯจากรัฐบาล (กระทรวงการคลัง) ในปีงบประมาณฯ 2567 จำนวนกว่า 10,000 ล้านบาท จากที่หยุดของบประมาฯมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ทั้งนี้ เพื่อนำมา เสริมสภาพคล่องและใช้เป็นทุนดำเนินการในการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาทั้งในหลักสูตรทั่วและหลักสูตรฝึกวิชาชีพระยะสั้น ต่อไป

“การดำเนินงานของ กยศ. นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาเพื่อสร้างทุนมนุษย์ในการพัฒนาประเทศแล้ว ยังให้โอกาสแก่ผู้กู้ยืมทุกคนในการผ่อนชำระเงินคืนได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม เพื่อร่วมส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่น้อง ๆ รุ่นต่อไปอีกด้วย” ผู้จัดการกองทุนฯ ย้ำ

ด้าน นางสาวนันทวัน วงศ์ขจรกิตติ รอง ผจก. กยศ. กล่าวเสริมว่า จากข้อมูลจำนวนโรงเรียนฝึกวิชาชีพระยะสั้นทั่วประเทศมีรวมกันกว่า 100 แห่ง แต่ กยศ.ต้องไปดูว่ามีกี่แห่งที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เนื่องจากจะพิจารณาให้กู้กับนักศึกษาที่เข้าเรียนกับโรงเรียนในกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนเอาไว้กับ สช. และจะต้องเปิดดำเนินการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ปี ทั้งเพื่อป้องกันปัญหาและความเสียหายที่จะมีตามในอนาคต

“ในวันพรุ่งนี้ (20) กยศ.จะประชุมร่วมกับกรมบัญชีกลาง เพื่อหารือถึงแนวทางการดำเนินงานของ กยศ. หนึ่งในนั้น อาจมีการหารือถึงความเป็นไปได้ถึงแนวทางการสร้างแรงจูงใจพิเศษ เพื่อให้ผู้กู้ยืมทำการผ่อนชำระหนี้คืนอย่างต่อเนื่อง ส่วนการให้กู้ในโครงการ Reskill Upskill นั้น กยศ.จะพยายามเร่งให้แล้วเสร็จ โดยจะให้กู้ได้ทันภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนกลุ่มนี้” รอง ผจก. กยศ. ระบุ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password