คลังนำ ‘3 องค์กรในสังกัด’ ร่วมสร้างหลักประกันการเงินให้คนไทยทุกกลุ่ม
“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” นำทีม 3 หน่วยงานสังกัดคลัง “สคฝ. – กอช. – กยศ.” ร่วมเอ็มโอยู สร้างหลักประกันด้านการเงินแก่ประชาชน พร้อมเติมความรู้การออมและรับมือมิจฉาชีพ ย้ำ! คนไทยทุกกลุ่มจะมีหลักประกันที่ดี ตั้งแต่การคุ้มครองเงินฝาก กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา จนถึงสร้างหลักประกันให้คนอาชีพอิสระได้มีเงินใช้หลังเกษียณอายุทำงาน เผย! รัฐขยายเพดานเงินสมทบสูงสุด 3 หมื่นบาท/ปี พร้อมรับเงินทุกเดือนๆ 1.2 หมื่นบาท ขณะนี้ ผจก. กยศ. ระบุ! ไม่ฟ้องไม่ยึดพวกผิดนัดชำระ ส่วนที่ฟ้องไปแล้วและอยู่ระหว่างยึดทรัพย์ พร้อมเปิดช่องให้แปลงหนี้ใหม่ หวังดึงกลับเข้าสู่ระบบ ลั่น! มีเงินพอให้ นร.-นศ.ทุกคน กู้เรียนในปี’66
วันที่ 8 มีนาคม 2566 ณ ห้องโถงวายุภักษ์ ชั้น 1 อาคารสำนักปลัดกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวระหว่างเป็น ประธานพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง ระหว่าง สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เกี่ยวกับการส่งเสริมการออมและการคุ้มครองเงินฝาก รวมถึงความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน ว่า นับเป็นเรื่องดีที่ทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมมือกันเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านการเงินแก่ประชาชน โดยเฉพาะนักเรียน เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นวินัยการออม สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบคุ้มครองเงินฝากและการวางแผนทางการเงิน รวมถึงรู้เท่าทันภัยทางการเงิน ปูทางสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว
“ความมั่นคงทางการเงินของคนไทย เริ่มจากการมีเงินออม โดยเฉพาะเงินฝากกับสถาบันการเงิน ซึ่งในส่วนนี้ จะมีความคุ้มครองเงินฝากจาก สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่จะเข้ามาดูแลตามเงื่อนไขข้อกฎหมาย และหากเข้าสู่ช่วงของการศึกษา ก็จะมี กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ตั้งระดับมัธยมจนถึงระดับอุดมศึกษา โดนผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ กองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อสร้างหลักประกันของชีวิตหลังเกษียณอายุทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาชีพอิสระ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเพิ่มเห็นชอบให้มีการขยายเพดานการออมสูงสุดจากเดิม 13,200 บาทต่อปี เป็น 30,000 บาทต่อปี โดยที่ภาครัฐจะเพิ่มเงินสมทบตามช่วงอายุสูงสุด 1,800 บาทต่อปี เมื่อเกษียณอายุการทำงาน ก็จะได้เงินบำนาญรายเดือนๆ ละ 12,000 บาท ถือเป็นหลักประกันในชีวิตหลังเกษียณฯได้เป็นอย่างดี” รมว.คลัง ย้ำและว่า
ความร่วมมือในครั้งนี้ ครอบคลุมการให้ความรู้ทางการเงินและความรู้เกี่ยวกับระบบคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งประกอบด้วย ความรู้เรื่องการออม เทคนิคออมเงินอย่างถูกวิธี การวางแผนทางการเงิน การป้องกันตนเองจากภัยกลโกงทางการเงิน และการคุ้มครองเงินฝาก ล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเงินของตนเอง เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว ผ่านช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสมต่างๆ รวมถึงกิจกรรมอบรมให้ความรู้ และกิจกรรมการถ่ายทอดสาระความรู้ทางการเงินต่างๆ ผ่านความบันเทิง (Edutainment) การ บูรณาการการทำงานร่วมกันนี้ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและขยายพื้นที่การให้ความรู้ให้ครอบคลุมได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สคฝ. กล่าวว่า ตลอดช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา สคฝ. ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมทั้งทางด้านกระบวนการภายใน ระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ความรู้ความเข้าใจของบุคลากร เพื่อรองรับพันธกิจในการคุ้มครองผู้ฝากเงินและชำระบัญชีสถาบันการเงิน หากเกิดวิกฤต สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองประสบปัญหาจนต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาต นอกจากภารกิจหลักดังกล่าวแล้ว ยังมีภารกิจที่สำคัญอีกด้านหนึ่งเพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ “พร้อมคุ้มครอง เคียงข้างคุณ” โดยการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบคุ้มครองเงินฝากของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและลดความตื่นตระหนกให้กับประชาชนผู้ฝากเงิน
“การลงนามความร่วมมือที่ สคฝ. ได้ทำร่วมกับ กอช. และ กยศ. ในครั้งนี้เป็นหนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญภายใต้กลยุทธ์การเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมการเงิน อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การทำงานร่วมกันในหลากหลายมิติเพื่อประโยชน์สูงสุดของกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ให้มีความรู้พื้นฐานทางการเงินและตระหนักถึงการวางแผนการออมเงินอย่างถูกวิธีก่อนเข้าสู่วัยทำงาน” ผู้อำนวยการ สคฝ. กล่าว
ด้าน นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการ กอช. กล่าวว่า กอช. ได้มุ่งสร้างฐานการออม ขับเคลื่อนบำนาญภาคประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบ ที่ยังไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการจากรัฐได้วางแผนการออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ และเพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำนาญ และให้ประโยชน์ตอบแทนแก่สมาชิกเมื่อสิ้นสภาพ โดยนักเรียน นิสิต นักศึกษา ออมเงินกับ กอช. เริ่มตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป เมื่อเข้าระบบการทำงานเป็นข้าราชการ มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือพนักงานบริษัทเอกชน มีประกันสังคม สามารถออมเงินกับ กอช. ต่อเนื่อง จนถึงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ จะได้รับบำนาญสองรูปแบบ คือ เงินออมขณะอยู่ในวัยเรียนจะได้รับเป็นเงินบำนาญรายเดือน ส่วนเงินที่ออมขณะอยู่ในช่วงระบบการทำงานจะได้รับเป็นเงินก้อน
ทั้งนี้ กอช. ได้ดำเนินการสร้างการรับรู้ เสริมสร้างความเข้าใจ ให้เกิดการตระหนักถึงการวางแผนทางการเงินในอนาคต รวมถึงการรู้เท่าทันภัยทางการเงิน ตั้งแต่วัยเรียน วัยทำงาน และวัยใกล้เกษียณ ให้มีการจัดสรรเงินที่ดี โดยเริ่มจากการแบ่งเงินรายรับ ใช้จ่ายหนี้สิน แบ่งเก็บออม จึงนำไปใช้สอยจับจ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งการออมกับ กอช. เป็นหนึ่งของสวัสดิการบำนาญจากรัฐในกลุ่มของอาชีพอิสระ ที่จะทำให้คุณและครอบครัว ได้มีความมั่นคงทางการเงินในอนาคต
ขณะที่ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้ร่วมมือกับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ในการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา ผู้กู้ยืม ศิษย์เก่าผู้กู้ยืม ครู อาจารย์ รวมถึงประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้เกี่ยวกับระบบคุ้มครองเงินฝากและความรู้ทางการเงินพื้นฐาน สามารถวางแผนการเงินในระยะยาว รู้วิธีการวางแผนการจัดสรรรายได้ให้เพียงพอกับรายจ่ายต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
โดยปัจจุบัน กองทุนฯมีนักเรียน นักศึกษาที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจากกองทุนไปแล้วจำนวนกว่า 6.4 ล้านราย โดยมีผู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาในระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับอาชีวศึกษา ระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโทกว่า 6 แสนราย คาดว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษาในการเตรียมความพร้อมด้านการเงินหรือสร้างโอกาสเพิ่มเติมให้แก่ตนเอง ตลอดจนสามารถชำระคืนเงินกู้ยืมให้กองทุนได้ตามกำหนด เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป
“ตอนนี้เรามีกลุ่มลูกหนี้ที่มีอัตราการชำระหนี้คืนแบบสมัครใจประมาณ 28% ของลูกหนี้กลุ่มนี้ ซึ่งไม่นับรวมกลุ่มที่หักเงินชำระหนี้จากบัญชีเงินเดือนของต้นสังกัด โดยหากนับรวมวงเงินที่ไม่มีการชำระในปัจจุบันพบว่ามีราว 90,000 ล้านบาท แต่เพราะเราไม่ใช่สถาบันการเงิน ดังนั้น การผิดนัดชำระแค่เดือนเดียว ก็จะจับมารวมอยู่ในกลุ่มนี้ ซึ่งหากลูกหนี้มีการชำระคืนบางส่วน เราก็จะไม่นับรวมเป็นหนี้ที่ผิดนัดชำระก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี กลุ่มลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระและยังไม่ถูกฟ้องดำเนินคดี กยศ.ก็จะไม่ฟ้องร้อง โดยเมื่อกฎหมายใหม่ (อยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา) ผ่านออกมาใช้ เชื่อว่าจะทำให้ลูกหนี้กลับเข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น ส่วนกลุ่มที่ฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้ว หรืออยู่ระหว่างการยึดทรัพย์นั้น กยศ.ก็จะเปิดโอกาสให้มีการปรับแก้ไขแปลงหนี้ใหม่ เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบต่อไป” ผู้จัดการ กยศ. ย้ำพร้อมกับยืนยันว่า
ทายาทของลูกหนี้ในกลุ่มที่ผิดนัดชำระกับ กยศ. จะไม่ถูกนำมาพิจารณาคุณสมบัติในการกู้ยืมเงิน ซึ่งทำให้สามารถกู้ยืมกับ กยศ.ได้ พร้อมกันนี้ ตนขอยืนยันว่า การชำระคืนหนี้ของลูกหนี้จะช่วยให้น้องรุ่นต่อๆ ไป ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อการศึกษาได้มากขึ้น โดยในปีการศึกษา 2566 นี้ กยศ.มีเงินเพียงพอที่จะปล่อยกู้ให้กับน้องๆ นักเรียน นักศึกษาทุกคนอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสาร และสื่อความรู้การคุ้มครองเงินฝาก การออมกับกองทุนการออมแห่งชาติ และรายละเอียดการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ได้ผ่านช่องเว็บไซต์ www.dpa.or.th หรือเพจเฟซบุ๊ก สถาบันคุ้มครองเงินฝาก DPA และช่องทางการสื่อสารของ กอช. ได้ที่เว็บไซต์ www.nsf.or.th หรือเพจเฟซบุ๊ก กองทุนการออมแห่งชาติ – กอช. และช่องทางการสื่อสารของ กยศ. ได้ที่เว็บไซต์ www.studentloan.or.th หรือเพจเฟซบุ๊ก กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา.