กรมชลฯดึงสื่อลงพื้นที่! เดินหน้าสร้างอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบตอนบน ‘แก้ปัญหาน้ำ-เรื้อรัง’ให้คนประจวบฯ

กรมชลประทานดึงสื่อจากส่วนกลางลงพื้นที่ศึกษาโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบตอนบน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มั่นใจไร้แรงต้าน! เหตุลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง แถมตรงกับความการของคนในพื้นที่ หลังประสบปัญหา “เดี๋ยวท่วม เดี๋ยวแล้ง” มาโดยตลอด ประกาศเดินหน้าสร้างฯ หวังบรรเทาปัญหาอุทกภัยคลองบางสะพานใหญ่ โดยจัดส่งน้ำให้ชุมชนด้วยระบบท่อ พร้อมชดเชยค่าเวนคืนอย่างเหมาะสม ชี้! หากขับเคลื่อนโครงการ คาดใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี วงเงิน 870 ล้านบาท

ความต้องการในลักษณะ “ล่างขึ้นบน” (Bottom Up) ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต้องการโครงการที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาเรื้อรังที่พวกเขาประสบกันมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง ทำนอง “ฤดูฝนน้ำท่วม…ฤดูร้อนขาดแคลนน้ำ”

สอดรับนโยบายจากภาครัฐ อย่าง…กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เฝ้ามองปมปัญหาเดียวกันนี้ และมีแนวคิดในการดำเนินงานแบบ “บนลงล่าง” (Top Down) ประสานกันอย่างลงตัวกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ฯ

นั่น…จึงนำไปสู่การลงพื้นที่ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบตอนบน ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใน อ.บางสะพาน โดยที่ 2 โครงการแรก คือ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านไทรทอง และอ่างเก็บน้ำคลองลอย ได้ดำเนินการก่อสร้างล่วงหน้าไปบ้างแล้ว

นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ (ผสบก.) กรมชลประทาน กล่าวระหว่างพาคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร) และสื่อมวลชนในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงพื้นที่ตรวจสถานที่ศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบตอนบน เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ว่า กรมฯได้ลงพื้นที่ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโครงการนี้มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2565 และได้ดำเนินการลงพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องอีกหลายครั้ง โดยจะทำการศึกษาถึงความเหมาะสมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (IEE) ทั้งในด้านการเตือนภัยน้ำท่วม การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก การฟื้นฟู และบำรุงรักษาลำน้ำ และแผนบรรเทาอุทกภัยให้กับชุมชน ต่อไปจนถึงสิ้นสุดของกรอบเวลาที่กำหนด คือ ในวันที่ 27 มิ.ย. 2566 ที่จะถึงนี้ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จ ก็จะนำบทสรุปของโครงการฯเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

“สาเหตุที่โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบตอนบน ไม่ได้ถูกต่อต้านจากกลุ่มเอ็นจีโอและชาวบ้านในพื้นที่มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะเราได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านมาโดยตลอด ซึ่งมันก็ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่เอง ที่สำคัญการศึกษาโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำ 2 แห่งก่อนหน้านี้ มันได้แสดงให้ชาวบ้านได้เห็นแล้วว่าประโยชน์จะเกิดขึ้นกับพวกเขาได้อย่างไรบ้าง” นายสุรชาติ กล่าวและว่า

โครงการอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบตอนบน จะเชื่อมประสานกับโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านไทรทอง และอ่างเก็บน้ำคลองลอย สร้างประโยชน์และโอกาสให้กับชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะการจะมีแหล่งต้นทุนน้ำ เพื่อใช้อุปโภค บริโภค รองรับความต้องการของภาคเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ทั้งยังเป็นการช่วยบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัยในช่วงฤดูฝน สำหรับเขตพื้นที่ลุ่มน้ำคลองบางสะพานใหญ่ได้เป็นอย่างดี

เฉพาะโครงการอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบตอนบน จะช่วยให้ชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการปลูกพืชเศรษฐกิจ อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว สับปะรด ฯลฯ โดยกรมชลประทานประเมินความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว…เฉลี่ยทั้งปีสูงถึง 12.98 ล้านลูกบาศก์เมตร

“เมื่อพืชเศรษฐกิจในพื้นที่มีราคาสูงขึ้น รูปแบบการเพาะปลูกอาจเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของตลาดโลก จึงมีความต้องการใช้ปริมาณน้ำจากระบบชลประทานสูงขึ้นตามไปด้วยในอนาคต สำหรับความต้องการใช้น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคของประชาชนในพื้นที่ปัจจุบัน 0.28 ล้าน ลบ.ม./ปี คาดการณ์ในอีก 5 ปีเท่ากับ 0.29 ล้าน ลบ.ม./ปี ช่วง10 ปี ประมาณ 0.30 ล้าน ลบ.ม./ปี และช่วง  20 ปี ประมาณ 0.33  ล้าน ลบ.ม./ปี ส่วนความต้องการใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมค่อนข้างน้อย และส่วนใหญ่ก็เป็นอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตรแปรรูป จึงมีผลต่อแผนศึกษาดังกล่าวน้อยมาก” ผสบก. ระบุ

ทั้งนี้ จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า มีชาวบ้านในพื้นที่ประมาณ 57 รายที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบตอนบน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่รับน้ำนั้น ซึ่งทั้งหมดเป็นพื้นที่ สปก.โดยหากโครงการฯได้ผ่านความเห็นชอบในเชิงนโยบายแล้ว กรมชลประทานจะได้ทำการเวนคืนที่ดินซึ่งปัจจุบันเป็นสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน ในอัตราที่เหมาะสมต่อไป คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างโครงการฯราว 3-4 ปี

สำหรับ ที่ตั้งหัวงาน อ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบตอนบน ซึ่งเป็นเขื่อนดินกั้นน้ำนั้น จะอยู่ที่ หมู่ 7 บ้านทรัพย์สมบูรณ์ ต.ทองมงคล  อ.บางสะพาน โดยเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดความจุ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 592 ไร่ ความยาวเขื่อนสันดิน 1,005 เมตร ความสูงเขื่อน 30 เมตร จัดส่งน้ำให้ชุมชนด้วยระบบท่อ พื้นที่รับประโยชน์ของเกษตรกร 9,000 ไร่ จัดส่งน้ำให้ชุมชนด้วยระบบท่อ เพื่อส่งน้ำไปยังชุมชนพื้นที่ต่างๆ เบื้องต้นจะใช้งบประมาณเพื่อการลงทุน ตั้งแต่การก่อสร้างเขื่อนและอาคาร รวมถึงระบบชลประทาน และอื่นๆ รวม 870 ล้านบาท.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password