ttb analytics คาดรายได้ท่องเที่ยวไทยปี 66 เพิ่ม 1 ลลบ. ต่างชาติพุ่งแตะ 28 ล้านคน
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประมาณรายได้ท่องเที่ยวไทยปี 2565 อยู่ที่ระดับ 1.25 ล้านล้านบาท บนบริบทของพฤติกรรมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับคาดการณ์รายได้ในปี 2566 จะเติบโตในอัตราเร่งอีก 1 ล้านล้านบาท พุ่งแตะ 2.25 ล้านล้านบาท
จากอานิสงส์ที่จีนเปิดประเทศหนุนตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติพุ่งแตะ 28.9 ล้านคน ส่งผลทางอ้อมให้การท่องเที่ยวภูมิภาคไทยมีความคึกคักเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดเมืองหลักท่องเที่ยว จากการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการของจีน โดยผ่อนคลายมาตรการการรับมือสถานการณ์โควิด-19 ในวันที่ 8 มกราคม 2566 เป็นสัญญาณของ “จุดสิ้นสุดของวิกฤตโควิด-19” ที่กระทบต่อภาคการท่องเที่ยว หลังไทยได้ประกาศเปิดประเทศอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2565 ส่งผลให้รายได้ภาคการท่องเที่ยวในปี 2565 ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1.25 ล้านล้านบาท จากแรงขับเคลื่อนสำคัญของการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยที่ฟื้นตัวถึงระดับ 89% (เทียบกับปี 2562)
สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนแต่ยังอยู่ที่ระดับ 28% แต่จะเห็นได้ว่าการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวมีความไม่สมดุลของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยว โดยพบว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวเพียง 59.5% ซึ่งต่ำกว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว ในขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาที่ 31.7% สูงกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น สะท้อนพฤติกรรมและรูปแบบการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่ต่างไปจากเดิม โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) นักท่องเที่ยวคนไทย ปี 2565 พบพฤติกรรมการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่อทริปลดลงจากภาวะเงินเฟ้อที่กดดันรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายมีอัตราลดลง ส่งผลต่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวคนไทยดังนี้
เทรนด์การเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ (One-Day Trip) โดยไม่พักแรมเพิ่มขึ้นสะท้อนผ่านจำนวนนักท่องเที่ยวในภาคกลาง และภาคตะวันตก ฟื้นตัวเทียบช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ที่ 105% และ 119% แต่รายได้กลับฟื้นตัวเพียง 78% และ 92% ตามลำดับ
นักท่องเที่ยวคนไทยมีแนวโน้มเที่ยวเมืองรองที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเมืองหลักเพิ่มขึ้น เช่น จังหวัดเชียงราย น่าน แพร่ ในพื้นที่ภาคเหนือมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% และจังหวัดสตูล และสุราษฎร์ธานี ในพื้นที่ภาคใต้มีตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 15-20% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19
ลดคืนค้างแรมลงโดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดห่างไกล ส่งผลต่อเม็ดเงินค่าใช้จ่ายที่ลดลงต่อทริปโดยเฉพาะในกลุ่มภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ สะท้อนผ่านเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเทียบก่อนสถานการณ์โควิด-19 กลับมาที่ 92%, 55% และ 46% ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวในอัตราที่สูงกว่า อยู่ที่ 106%, 76%,และ 70% ตามลำดับ
ปี 2566 คาดการณ์ท่องเที่ยวของคนไทยยังโตต่อเนื่องด้วยตัวเลขการท่องเที่ยว 226 ล้านคนต่อครั้ง จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับสู่ภาวะปกติส่งผลบวกต่อพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565 รวมถึงการเริ่มกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 ช่วยเพิ่มความคึกคักให้กับภูมิภาคปลายทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ภาคใต้ และภาคตะวันออก ฟื้นตัวในเชิงปริมาณที่ 80%, 84%, และ 104% ตามลำดับ
ปี 2566 นักท่องเที่ยวจีนคาดว่าจะกลับมาไม่มากเท่าปกติ แต่อาจช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับอานิสงส์จากรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน รวมถึงในภูมิภาคอื่นที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมิติของรายได้ พบค่าเฉลี่ยของรายจ่ายต่อทริปคาดว่าปรับตัวขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อและการปรับขึ้นของค่าที่พักจากระดับที่ปรับลดในช่วงก่อนหน้า แต่ยังคงต่ำกว่าก่อนช่วงสถานการณ์โควิด ส่งผลให้การท่องเที่ยวแบบไทยเที่ยวไทยคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินราว 8.2 แสนล้านบาท
2) นักท่องเที่ยวต่างชาติ ปี 2565 พบค่าใช้จ่ายต่อทริปเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เข้ามาเป็นกลุ่มเม็ดเงินจับจ่ายสูง เช่น สัดส่วนนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์สูง เพิ่มจาก 1.8% ในปี 2562 เพิ่มเป็น 4.3% ในปี 2565 รวมถึงกลุ่มที่มีเม็ดเงินใช้จ่ายต่อทริปสูง จากการพักแรมในไทยแบบระยะยาว เช่น นักท่องเที่ยวจากยุโรป และสหรัฐอเมริกา ที่มีสัดส่วนเพิ่มจาก 17% และ 4% ในปี 2562 เป็น 23% และ 6% ในปี 2565 ตามลำดับ
ปี 2566 ttb analytics คาดตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มสูงแตะ 28 ล้านคน สร้างมูลค่าการท่องเที่ยวราว 1.44 ล้านล้านบาท จากแรงหนุนของการที่จีนเปิดประเทศ และการปรับตัวของสายการบินที่จัดหาบริการเที่ยวบินรองรับอุปสงค์การท่องเที่ยวได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565 ผ่านมา ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นและน่าสนใจประกอบด้วย 1) กลุ่มตะวันออกกลางที่มีสัดส่วนรายจ่ายต่อทริปสูงจากรายจ่ายเชิงการแพทย์ที่ไทยมีข้อได้เปรียบ 2)กลุ่มนักท่องเที่ยวจากอินเดียที่คาดว่าเป็นกลุ่มที่จะมีอัตราการเติบโตที่สูงจากกลุ่มชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นบนฐานประชากรที่ใหญ่ กอปรกับมีพฤติกรรมการจับจ่ายที่เน้นภาคท่องเที่ยวและภาคโรงแรมในสัดส่วนที่สูง 3)กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีระยะพักแรมนาน เช่น กลุ่มยุโรป และสหรัฐอเมริกาที่ได้อานิสงค์จากการทำงานรูปแบบ Work from anywhere มากขึ้นที่ช่วยให้นักท่องเที่ยวจัดสรรเวลาเพื่อการท่องเที่ยวได้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมาในอดีต
ตัวเลขโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายต่อทริปสูงจะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลทางอ้อมให้การท่องเที่ยวปี 2566 นี้มีความคึกคักเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ปลายทางสำคัญ ได้แก่ กทม. ชลบุรี ภูเก็ต สงขลา เชียงใหม่ ในขณะที่เมืองรองซึ่งมีศักยภาพในการท่องเที่ยวต่าง ๆ มีโอกาสเติบโตมากขึ้นด้วยการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเมืองหลักในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อหนุนให้ภาคการท่องเที่ยวไทยมีการเติบโตในระยะยาวและก้าวข้ามระดับสูงสุดใน 1-2 ปีข้างหน้า.