อีอีซี จับมือ 3 พันธมิตร เดินหน้าโครงการ EEC Enterprise

อีอีซี – กองทุนหมู่บ้านฯ -ธกส. -สมาคมกัญชงฯ ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนผ่านกลไก EEC Enterprise นำร่องจัดทำแปลงสาธิตต้นแบบสมุนไพร กัญชง พร้อมจัดหาตลาด สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี จัดแถลงข่าว โครงการ EEC Enterprise โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี พร้อมด้วย นายธัชพล กาญจนกุล รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) คุณยุทธนา กาญจนะโกมล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และนายวิฑูร เนติวิวัฒน์ นายกสมาคมกัญชงไทย เข้าร่วมการเสวนาพิเศษ ถึงรูปแบบแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน การดำเนินโครงการ แผนดำเนินการ การสร้างเครือข่ายธุรกิจชุมชนในพื้นที่

และแนวทางการสนับสนุนโครงการธุรกิจชุมชนที่ได้คัดเลือกไว้ อาทิเช่น การส่งเสริมปลูกพืชสมุนไพรกัญชง และพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชงซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของตลาดในปัจจุบัน สามารถสร้างรายได้ในเวลาอันสั้น ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชนในเวลาที่รวดเร็วขึ้น

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า เพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชนควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยการเร่งสร้างกาสในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ตลอดจนผู้ประกอบอาชีพค้าขายและรับจ้างรายย่อยในพื้นที่ให้สามารถฟื้นตัวจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด 19 อีอีซี จึงได้ผลักดัน โครงการส่งเสริมส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และผู้ค้ารายย่อยในอีอีซี ภายใต้การดำเนินงานของ EEC Enterpriseซึ่งจะดำเนินการสนับสนุนทั้งการสร้างความรู้ พัฒนาทักษะประสบการณ์ ขยายช่องทางจำหน่าย และความสามารถในการขาย พร้อมทั้งจัดหาแหล่งเงินทุนให้ผู้ค้ารายย่อย ชุมชน พัฒนาผลผลิตและสินค้าให้มีความสด ใหม่ ดี มีคุณภาพสูงและได้มาตรฐานสากล คู่ไปกับสร้างเครื่องมือการตลาด นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อให้สินค้าชุมชนและโอทอปเป็นที่รู้จักและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ อีอีซี จะส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการสินค้าชุมชนและโอทอป ผ่านโครงการ EEC Enterprise โดยเป็นการร่วมดำเนินการระหว่าง อีอีซี สทบ. สถาบันการเงิน และภาคเอกชน ทำหน้าที่ วางแผนการผลิต การตลาด และส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้วางแนวทางดำเนินงาน EEC Enterprise ใน 3 ด้าน ได้แก่

1.สร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน จัดขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกชุมชน การคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ สนับสนุนการอบรมและพัฒนาทักษะการประกอบการ 2. วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับ สถาบันการศึกษา เพื่อปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์ นำนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการเพิ่มยอดขาย การสนับสนุนด้านการขนส่งสินค้า และใช้ประโยชน์จาก อีคอมเมิรซ์ เป็นต้น และ 3.ยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ร่วมกับภาคเอกชน เพิ่มทักษะการประกอบธุรกิจ รวมทั้งจัดหาแหล่งเงินทุน กองทุนสนับสนุน รองรับการแปรรูปหรือผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล เป็นต้น

ด้านนายธัชพล กาญจนกุล รองเลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า อีอีซี พร้อมจะสนับสนุนโครงการ EEC Enterpriseโดยเบื้องต้นได้ร่วมกับ สทบ. ร่วมดำเนินการคัดเลือกโครงการต้นแบบหลายโครงการ อาทิเช่น โครงการโรงเรือนกัญชงต้นแบบ ซึ่งเป็นโครงการแรก ของ EEC Enterprise โดยเบื้องต้น สทบ. จะช่วยสนับสนุนการลงทุน ช่วยเหลือในกระบวนการบริหารจัดการ การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต้นแบบให้แก่เกษตรกร รวมทั้งประสานเชื่อมโยงผู้ซื้อผู้ขาย จัดสรรผลผลิตที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ไปยังผู้ซื้อได้โดยตรง

พร้อมกันนี้อีอีซี จะได้หารือ ร่วมกับ ธกส. และสถาบันการเงินอื่น ถึงแนวทางการสนับสนุนด้านการเงินให้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยด้านเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ และในระยะต่อไป EEC Enterprise ก็จะเข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมในระดับชุมชนอย่างต่อเนื่องโดยการขยายผลในการสนับสนุนทั้งด้านสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นต้น

สำหรับ ผลประโยชน์รวมที่เกิดขึ้นจาก EEC Enterprise จะสนับสนุนให้ยอดขายสินค้าชุมชนเพิ่มไม่ต่ำกว่า 30% ผลักดัน GDP ระดับชุมชนขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% เศรษฐกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น 20% ผู้ซื้อสินค้า ผู้บริโภค นักท่องเที่ยวได้สินค้าชุมชน และบริการที่มีคุณภาพ จูงใจให้กลับมาท่องเที่ยวซ้ำ สร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและขจัดความยากจนในพื้นที่ อีอีซี ระยะยาวต่อไป

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password