พาณิชย์ชี้! ทัวร์สายบุญ ‘ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่’ สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ๆ เติบโตได้ทั่วไทย

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชี้! พฤติกรรมทำบุญของคนไทยยุคใหม่ หนุนสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจจนน่าจับตามอง ผ่านทางเลือกทำบุญหลายรูปแบบ ทั้งเดินทางไปทำบุญที่วัด หรือทำบุญออนไลน์ แถมมีบริการให้เลือกสินค้าทำบุญ แนะธุรกิจจัดนำเที่ยวปรับเพิ่มแพคเกจ “ทัวร์สายบุญ” สร้างทางเลือกใหม่ในงานบริการดึงดูดลูกค้าเพิ่ม ย้ำ! วันสำคัญทางศาสนาช่วยกระจายอานิสงค์ถึงธุรกิจอื่นๆ เติบโตตามพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ได้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มี ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ มี “วันพระใหญ่” ที่เป็นวันหยุดราชการถึง 4 วันต่อปี อย่างเช่นช่วงเวลานี้ที่เป็น วันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนหรือชาวพุทธก็จะถือโอกาสออกไปทำบุญ ไม่ว่าจะเป็น การตักบาตร ไหว้พระขอพรที่วัด ประกอบกับ ยังมีเทศกาลอื่นๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปทำบุญไม่ว่าจะเป็น วันเกิด การขอพรพระให้หายจากอาการเจ็บป่วย การสอบแข่งขัน งานบวช การทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ไปจนถึง การจัดงานศพ และจัดกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ ชาวพุทธก็ยังเลือกที่จะเดินเข้าวัดเพื่อไปทำบุญความน่าสนใจคือ รูปแบบการทำบุญของชาวพุทธในยุคสมัยนี้ ที่ได้ปรับเปลี่ยนไปให้เข้ากับวิถีชีวิตมากขึ้น จากการทำบุญแบบเดิมที่ต้องซื้อของใช้ทำบุญถวายสังฆทาน หรือการเดินทางไปยังวัดหรือสถานที่ต่างๆ เพื่อบริจาคเงิน หรือปล่อยสัตว์ตามความเชื่อ กลับกลายเป็นการทำบุญในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น หรือแม้กระทั่ง “การทำบุญออนไลน์” ตามพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่
อธิบดีฯอรมน กล่าวต่ออีกว่า ชาวพุทธส่วนใหญ่นิยมไปทำบุญโดยการ ถวายสังฆภัณฑ์ หรือเครื่องสังฆทาน ซึ่งประกอบไปด้วย ข้าวสาร อาหารแห้ง ยา เครื่องอัฐบริขาร ผ้าไตร จีวร ของใช้ที่จำเป็น สบู่ ยาสีฟัน รองเท้า มีดโกน หลอดไฟ และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ธุรกิจในหมวดหมู่ ธุรกิจร้านขายปลีกสินค้าใหม่อื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น ได้รับอานิสงค์จากการทำบุญในเทศกาลต่างๆ ของชาวพุทธด้วย ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2568) มีธุรกิจดังกล่าวที่จดทะเบียนนิติบุคคลและยังดำเนินกิจการอยู่จำนวน 2,766 ราย มูลค่าทุน 12,093 ล้านบาท ในจำนวนนี้ หากวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล จะพบว่า มีธุรกิจที่ระบุถึงการจำหน่ายสังฆทานจำนวน 23 ราย มูลค่าทุน 46.4 ล้านบาท แม้ตัวเลขจะดูไม่สูงนักเป็นเพราะธุรกิจจำหน่ายสังฆทานส่วนใหญ่จัดตั้งในรูปแบบร้านค้าทั่วไปและไม่นิยมมาจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล หากธุรกิจกลุ่มนี้สามารถพัฒนาและจัดระบบการบริหารให้เข้าสู่การดำเนินธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลได้ก็จะทำให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือและมีโอกาสที่จะต่อยอดขยายธุรกิจให้เติบโตต่อไปอีกได้

อย่างไรก็ดี การทำบุญในรูปแบบออนไลน์ได้เข้ามาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคนี้ ธุรกิจหลายรายได้ปรับตัวให้ผู้บริโภคมีช่องทางการทำบุญแบบออนไลน์ โดยเฉพาะเพื่อผู้บริโภคยุคใหม่ที่อาจมีภารกิจมากหรือไม่สะดวกในการไปทำบุญด้วยตนเองก็อาจใช้บริการให้ผู้อื่นทำแทน ตั้งแต่การเลือกชุดสังฆทานที่มีสินค้าหลากหลายผ่านทางออนไลน์ ไปจนถึงการนำชุดสังฆทานไปถวายวัดให้โดยใช้บริการของร้านหรือการบริการปล่อยปลา หรือแม้กระทั่งธุรกิจการจัดทำบุญเลี้ยงพระก็มีบริการให้เลือกหลายหลากตามกำลังทรัพย์ของแต่ละคน ซึ่งการทำบุญออนไลน์ถือเป็นช่องทางการขายประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมและยังเป็นโอกาสของธุรกิจที่จะสามารถเสนอขายสินค้าของตนเองได้ในรูปแบบที่แตกต่าง เช่น การจัดแพคเกจสินค้าของธุรกิจตนเองให้มีความน่าสนใจ เช่น ชุดสังฆทานอุปกรณ์ห้องน้ำของบริษัทผลิตอุปกรณ์ในห้องน้ำ ชุดสังฆทานเครื่องมือแพทย์ของบริษัทเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น
สำหรับช่วงวันหยุดยาวนี้ ชาวพุทธอาจเลือกใช้เวลานี้ไปกับการเดินทางไปทำบุญ ไหว้พระ ซึ่งหากธุรกิจทัวร์มีการจัดแพคเกจท่องเที่ยวสายบุญก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มรายได้ เพิ่มโอกาสในการเรียกลูกค้าให้มาใช้บริการ โดยปัจจุบันมี ธุรกิจจัดนำเที่ยว ที่ดำเนินกิจการอยู่ 9,919 ราย มูลค่าทุน 35,318 ล้านบาท ซึ่งการจัดทัวร์สายบุญจะทำให้ผู้ท่องเที่ยวอิ่มบุญแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้ไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ลงลึกไปยังธุรกิจท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกประจำท้องถิ่น โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง ช่วยหนุนรายได้ให้แก่ชุมชน สร้างงานในพื้นที่ รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกด้วย
“จากที่กล่าวมา ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญและธุรกิจอื่นๆ ก็สามารถใช้โอกาสนี้ปรับตัวให้เข้ากับผู้บริโภคได้ พร้อมปรับรูปแบบการนำเสนอสินค้าให้เข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคชาวพุทธที่ถือว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ในประเทศ อีกด้วย” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย.
#SuperDBD #กรมพัฒนาธุรกิจการค้า #กระทรวงพาณิชย์
You may also like
