บทพิสูจน์ ‘ผู้นำองค์กร’ – ‘ดร.รักษ์’ CEO เปลี่ยน BAM สู่วิถี Business Recycling Machine ที่ยั่งยืน!

ถอดวิสัยทัศน์ CEO คนใหม่ “ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร” บนภารกิจนำพา BAM ก้าวสู่ความเป็น Business Recycling Machine พลิกฟื้นลูกหนี้ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน พร้อมชูกลยุทธ์ 3P สร้างความเชื่อมั่นแก่ Stakeholders ในฐานะ “ผู้นำธุรกิจ AMC” ที่พร้อมเคียงข้างระบบเศรษฐกิจ และสร้างการเติบโตแก่สังคมไทย

การเปิดตัว “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) คนใหม่” ของ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) อย่างเป็นทาง เมื่อช่วงสายวันนี้ (9 พ.ค.2568) ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 17 อาคาร BAM สำนักงานใหญ่ ไม่เพียงเป็นการโชว์วิสัยทัศน์ของ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร “ผู้นำองค์กร” ที่ (องค์กร) ได้ชื่อว่าเป็น…ผู้นำธุรกิจ “บริหารสินทรัพย์ (AMC)” ของประเทศไทย
กับ…เป้าหมายในการยกระดับให้ BAM เป็นมากกว่า AMC รวมทั้งยังคงบทบาทในการเป็น “แก้มลิงแห่งชาติ” ที่เข้าไปจัดการ “ปัญหามวลหนี้เสีย” ไม่ให้ไหลเข้าท่วมสู่ ระบบสถาบันการเงิน ด้วยการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้ง NPL และ NPA อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจมีความผันผวน รวมทั้งยังสร้างโอกาสในการลงทุน โดยการนำทรัพย์สินเหล่านี้มาสร้างมูลค่าเพิ่มและผลตอบแทนที่คุ้มค่า

นับเป็นการสะท้อนให้เห็นถึง บทบาทของ BAM ในฐานะ “ผู้นำธุรกิจ AMC“ ที่พร้อมเคียงข้างระบบเศรษฐกิจและสร้างการเติบโตให้กับสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน
หากยังรวมถึง ภารกิจสำคัญ ในการ “อัพสเกล” ให้ BAM มุ่งสู่ความเป็นBusiness Recycling Machine ที่จะช่วยพลิกฟื้นลูกหนี้ให้สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ รวมถึงสร้างการเติบโตของ BAM ให้แข็งแกร่ง ด้วยแผนกลยุทธ์เชิงรุก “3P” ได้แก่…People, Partnerships, และ Platforms/Process อันจะเสริมสร้างความเชื่อมั่นแก่ ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน รวมถึง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ
“การเข้ารับตำแหน่ง CEO BAM ครั้งนี้ถือว่าเป็นความท้าทายการบริหารงาน ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และภาวะการแข่งขันสูง โดยเฉพาะกับการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายข้างต้น (การยกระดับให้ BAM เป็นมากกว่า AMC…)” ดร.รักษ์ กล่าว ก่อนจะ ฉายภาพรวมของหนี้ด้อยคุณภาพ NPL ในระบบสถาบันการเงิน (ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ) ว่า…

ณ สิ้นปี 2567 มีจำนวน 2,026,000 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรอการขาย NPA (ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ) จำนวน 193,526 ล้านบาท ขณะที่ BAM มี NPL ในความดูแล ณ สิ้นปี 2567 จำนวน 503,603 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24.86% ของระบบสถาบันเงิน รวมทั้งมี NPA จำนวน 74,517 ล้านบาท หรือคิดเป็น 38.50% ของระบบสถาบันการเงิน
ข้างต้น คือ ภารกิจที่ BAM ภายใต้นำของ ดร.รักษ์ จะต้องฟันฝ่าอุปสรรค ภายใต้แผนกลยุทธ์เชิงรุก “3P” ที่ถอดรหัสออกมาได้ ดังนี้…
P ตัวแรก คือ People เป็นการสร้างคุณค่าให้กับ 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย…
(1) ผู้ถือหุ้น ด้วยการ ยกระดับองค์กรให้ได้รับการยอมรับในระดับชาติ โดยตอกย้ำบทบาทการเป็น บริษัทบริหารสินทรัพย์ชั้นนำของประเทศ พร้อมทั้งสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้ถือหุ้นระยะยาว

(2) ลูกหนี้และลูกค้า BAM มุ่งมั่นให้โอกาสลูกหนี้ NPL ในการฟื้นฟูกิจการหรือสถานะทางการเงินของตน โดยปรับโครงสร้างหนี้และหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน ขณะที่ ลูกค้า NPA จะได้รับการบริการที่รวดเร็วแบบมืออาชีพ เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดในการซื้อทรัพย์ BAM
และ (3) พนักงานและการพัฒนาองค์กร โดย BAM เชื่อมั่นว่า…พนักงานคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร จึงเร่งสร้างศักยภาพสำหรับอนาคตและการเติบโตของพนักงานที่เหมาะสมพร้อมๆ กับระบบสวัสดิการที่ตอบโจทย์ (Flexi Benefits) สำหรับคนรุ่นใหม่
P ตัวที่ 2 คือ Partnerships BAM จะให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ความร่วมมือกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developers) ในการปรับปรุงและเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินรอการขาย รวมทั้ง สนับสนุนลูกหนี้ในภาคธุรกิจเชิงพาณิชย์ที่มีศักยภาพ โดยให้ความช่วยเหลือผ่านความร่วมมือจาก พันธมิตรทางการเงิน ในการจัดหาสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน

และอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของ กลยุทธ์ 3P คือ P ตัวที่ 3…การพัฒนา Platforms/Process โดย BAM ได้เดินหน้าปรับเปลี่ยนองค์กรเข้าสู่ “ยุคดิจิทัล” อย่างเต็มรูปแบบ(Digital Transformation) ซึ่งมุ่งเน้น การนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและยกระดับการให้บริการลูกค้า โดยได้ลงทุนในการพัฒนาระบบ AI เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจและปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นในการบริหารจัดการข้อมูลลูกหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ซึ่งจะช่วยให้สามารถ ติดตามสถานะของลูกหนี้แต่ละรายได้อย่างใกล้ชิด วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก และนำเสนอทางเลือกหรือวิธีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับความสามารถในการชำระของลูกหนี้แต่ละรายได้ เป็นอย่างดี นอกจากนั้น BAM ยังได้เสริมประสิทธิภาพการทำงานในองค์กรเพื่อลดขั้นตอนด้วยกระบวนการ Streamline Process อีกด้วย

ขณะเดียวกัน BAM พร้อมเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor : FA) เพื่อช่วยแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการสร้างวินัยทางการเงิน พร้อมทั้ง BAM ยังบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การลงทุนใน NPA ของ BAM เป็น Investment of Choice ซึ่งถือเป็น “โอกาสทอง” ของการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์มือสอง แม้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะมี “ปัจจัยที่ท้าทาย” ด้วยเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า พร้อมกับ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง แต่ทว่า BAM ก็ยังสามารถนำทรัพย์สินเหล่านี้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม นำเสนอลูกค้าตามกลุ่มเป้าหมาย (Target Segment) ด้วยช่องทางและแพลตฟอร์มต่างๆ ที่หลากหลาย โดย BAM พร้อมมอบทางเลือกเพื่อรองรับความต้องการของทุกกลุ่มลูกค้าและทุกวัตถุประสงค์การใช้งานทำให้ทรัพย์ของ BAM เป็น Property For All
พร้อมกันนี้ ยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย BAM Digital พัฒนาโครงสร้าง IT ด้วยระบบ AI และพัฒนา BAM Choice Application ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกหนี้ ซึ่งสามารถชำระเงิน ตรวจสอบภาระหนี้คงเหลือ การติดต่อกับเจ้าหน้าที่ การขอเอกสารสำคัญ
ในขณะที่ เมนู BAM Select ที่เตรียมจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พ.ค.2568 นี้ ก็จะช่วยให้ ลูกค้าสามารถค้นหาทรัพย์ได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น โดย ค้นหา และเปรียบเทียบตามช่วงราคา/พื้นที่ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง ผ่านสมาร์ทโฟนได้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งถือเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของลูกหนี้และลูกค้าทุกกลุ่มผ่านช่องทางดิจิทัล

รวมถึง BAM Auto ซึ่งเป็น ระบบ Automation ที่จะมาช่วยลดการทำงานที่ซ้ำซ้อนและลดการทำงานแบบ Manual เพื่อนำไปสู่การใช้ AI ที่ช่วยจำลองการออกแบบทรัพย์ตวามความต้องการของลูกค้า เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายทรัพย์ รวมทั้งยกระดับประสบการณ์ค้นหาทรัพย์ด้วย AI อัจฉริยะที่จะช่วยแนะนำทรัพย์ให้ตรงใจจากพฤติกรรมการเข้าชมของลูกค้าอีกด้วย
ภายใต้ภารกิจข้างต้น ที่ ดร.รักษ์ มีเป้าหมายจะนำพา BAM ก้าวไปสู่ความเป็น Business Recycling Machine ผ่านกลยุทธ์ 3 P (People, Partnerships, และ Platforms/Process) จำเป็นจะต้องเร่งปรับเปลี่ยนวิธีคิดเดิมๆ ของคนในองค์กร
โชคดีที่ ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับขององค์กรแห่งนี้ พร้อมจะให้ความร่วมมือ เพื่อร่วมกันนำพาองค์กรแห่งนี้ก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางที่วาดหวังไว้

แน่นอนว่า…แกนกลางหลักสำคัญของธุรกิจ AMC คือ การซื้อ NPL เข้ามาเก็บไว้ในพอร์ต เพื่อรอการจัดบริหารจัดการทรัพย์ที่มีปัญหา ปรับปรุง…เปลี่ยนแปลงไปสู่ NPA หรือสินทรัพย์รอการขาย ทั้งการขายคืนให้กับ “เจ้าของเดิม” ที่มีความพร้อมและได้รับโอกาสจาก BAM หรือแม้แต่ “เจ้าของใหม่” ที่จะได้ครอบครองทรัพย์ (NPA) เพื่อการอยู่อาศัย เพื่อการลงทุน (ซื้อถูกขายแพง) หรือ เพื่อนำไปให้เช่าต่อ สร้างรายได้รายเดือน…
แต่ปัญหาของการซื้อ NPL ก็คือ เม็ดเงินที่ถือในมือ! ซึ่งประเด็นนี้ ดร.รักษ์ ยอมรับว่า…ปริมาณ NPL ที่เกิดขึ้นในระบบ…แต่ละปีมีสูงมาก!
สำหรับ BAM แล้ว มีความพร้อมที่จะซื้อ NPL ในแต่ละปีได้ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท โดยปี 2568 นี้ เดิมมีแผนจะซื้อ NPL เข้าเก็บไว้ในพอร์ตประมาณ 8,800 ล้านบาท แต่จากที่ BAM จะร่วมมือกับพันธมิตร “บริษัทอสังหาริมทรัพย์” ใน 3 ระดับ “บริษัทขนาดเล็ก, กลาง และใหญ่” ทำให้แผนใหม่ เตรียมจะซื้อ NPL ประมาณ 10,000 – 15,000 ล้านบาท

“หากปล่อย NPA ได้เร็ว BAM ก็จะมีเงินสดในมือ เพื่อนำไปซื้อ NPL ใหม่ๆ เข้าเก็บไว้ในพอร์ตเพิ่มมากขึ้น จากนี้ไป เชื่อว่า…กระบวนการ Business Recycling Machine จะช่วยทำให้BAM สามารถปล่อย NPA ได้เร็วขึ้น จากเดิมที่เคยถือครองเอาไว้ เฉลี่ยราว 4 ปีเศษ ก็จะลดเหลือแค่ 2 ปีครึ่ง เท่านั้น” CEO คนใหม่ของ BAM ระบุ

นอกจากการทำหน้าที่ “ที่ปรึกษาทางการเงิน (FA)” ให้ลูกหนี้แล้ว BAM ยังมีแผนดึงเอาศักยภาพด้านการเงินและการดำเนินงานของพันธมิตรธุรกิจ (3 บริษัทอสังหาริมทรัพย์) ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องความร่วมมือระหว่างกันภายในเร็วๆ นี้ มาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม รวมถึงการรับฝากทรัพย์เพื่อการปล่อยเช่า สร้างรายได้ให้กับลูกหนี้ ซึ่งอาจเป็น อีกภารกิจใหม่ของ BAM ในอนาคตอันใกล้
“ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ถือว่าการลงทุนใน NPA คือ กระแสใหม่ของการลงทุนในสถานการณ์นี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนใน NPA กับ BAM หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) อื่นๆ ก็ตาม ผลตอบแทนที่จะได้รับย่อมมีสูงกว่าการลงทุนในหลายๆ รูปแบบ ภายใต้ความเสี่ยงที่มีไม่มากนัก” ดร.รักษ์ ย้ำ
คงต้องรอดู…ผลสัมฤทธิ์แห่งความสำเร็จ สำหรับเป้าหมายความเป็น…Business Recycling Machine ที่จะเกิดขึ้นตามมากับ BAM ในยุคของ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร “CEO คนใหม่” ว่าจะ…
สานฝัน…นำพาองค์กรต้นสังกัด ที่ได้ชื่อว่าเป็น ผู้นำธุรกิจ “บริหารสินทรัพย์ (AMC)” ของประเทศไทย ก้าวไปสู่…จุดแห่งความเป็น “ที่หวัง” ของ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders)” ไม่ว่าจะเป็น…เจ้าของ, ผู้ถือหุ้น, ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับ, ลูกค้า (นักลงทุน) แม้กระทั่ง ลูกหนี้ของ BAM เอง ได้ในระดับไหน?
วันเวลา…จะเป็นเครื่องพิสูจน์ “ศักยภาพ” ของความเป็น…ผู้นำองค์กร!!!.
