‘โฆษกพาณิชย์’ ชี้! ‘ทุเรียน = สินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ’ บี้! ทุกหน่วยงานรัฐต้องช่วยดูแล

“โฆษกกระทรวงพาณิชย์” ชูมาตรการดูแลทุเรียน หลังยอดส่งออกพุ่ง 1.5 แสนล้านบาท เผย! ส่วนแบ่งตลาดส่งออกมีสูง 75% กำชับ “8 ทูตพาณิชย์ในจีน” เร่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ส่งออก/นำเข้า ทำพีอาร์สร้างความเชื่อมั่น เสริมภาพลักษณ์ทุเรียนไทย หาตลาดเมืองหลักและเมืองรองของจีนเพิ่ม สั่งหาตลาดใหม่มีศักยภาพ ผุดมาตรการเชิงรุกตามแผน 7 มาตรการ 25 แผนงาน ดันราคาผลไม้ไทยดีตลอดปีนี้

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง มาตรการดูแลสินค้าผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทย โดยแต่ละปีสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้มากกว่าปีละกว่า 1.5 แสนล้านบาท ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ดูแลทั้งด้านตลาดในประเทศ และการขยายตลาดส่งออก ผ่านการส่งเสริมการบริโภค ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ทุเรียนไทยให้กับผู้บริโภคและผู้นำเข้าในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะ ในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกทุเรียนเกือบทั้งหมดของไทย (97% ของการส่งออกทั้งหมด)

สำหรับ กลุ่มสินค้าผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับที่ 1 ของไทย โดยมูลค่าการส่งออกได้แซงสินค้าข้าวและยางพารา ตั้งแต่ปี 2563 และยังคงเป็นสินค้าเกษตรส่งออกอันดับที่ 1 จนถึงปัจุบัน สำหรับ ปี 2567 ไทยส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง มูลค่ารวม 6,510.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (231,401 ล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วน 22.58% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย (ข้าวมีสัดส่วน 22.32% และยางพารา มีสัดส่วน 17.32% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย) และปี 2568 ช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม – กุมภาพันธ์) มูลค่าอยู่ที่ 429.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (14,615 ล้านบาท)

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะทุเรียน ในปี 2567 มีมูลค่าการส่งออกรวม 4,404.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (157,506 ล้านบาท) แบ่งเป็น (1) ทุเรียนสด 3,755.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (134,852 ล้านบาท) และ (2) ทุเรียนแช่เย็นจนแข็ง 649.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (22,654 ล้านบาท) และ ล่าสุดปี 2568 ช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม – กุมภาพันธ์) ไทยมีมูลค่าส่งออกรวม 128.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (4,374 ล้านบาท) แบ่งเป็น (1) ทุเรียนสด 85.8 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,918 ล้านบาท) และ (2) ทุเรียนแช่เย็นจนแข็ง 42.7 ล้านเหรียญสหรัฐ (1,456 ล้านบาท)

ทุเรียนเป็นสินค้าที่ไทยพึ่งพาตลาดส่งออกถึง 75% ขณะที่บริโภคภายในประเทศเพียง 25% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมด ดังนั้น หากมีปัญหาเกี่ยวกับการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นความเข้มงวดของจีนในการตรวจสาร Basic Yellow 2 (BY2) และแคดเมียม รวมทั้งการแข่งขันของทุเรียนคู่แข่งในตลาดจีนที่มีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งทุเรียนจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย อาจส่งผลกระทบให้ทุเรียนล้นตลาด ซึ่งจะส่งผลกับราคาทุเรียนในประเทศ

ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์มีบทบาทในการดูแลสินค้าเกษตรด้านการตลาด โดยการส่งเสริมและเชื่อมโยงหาตลาดให้กับสินค้าเกษตรไทย รวมทั้งสินค้าผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน มีการออกมาตรการรองรับปัญหาผลผลิตล้นตลาด ทั้งส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ และขยายตลาดส่งออก ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ตลอดกระบวนการผลิต รวมทั้งดูแลมาตรฐานสินค้าเกษตร ตั้งแต่สวน โรงคัดบรรจุ จนถึงด่านตรวจพืช เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสินค้าเกษตรไทยมีคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งการบูรณาการการทำงานจะช่วยยกระดับราคาสินค้า และเพิ่มรายได้เกษตรกรตลอดห่วงโซ่อุปทาน

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ดูแลสินค้าผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรสำคัญของไทย ติดตามสถานการณ์ราคาและตลาดอย่างใกล้ชิด ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่มีสัดส่วนการบริโภคถึง 75% ของปริมาณผลผลิตทุเรียนไทย โดยให้ “ทูตพาณิชย์” ในประเทศจีน ทั้ง 8 แห่ง รวมทั้งสำนักงานพาณิชย์ ณ กรุงปักกิ่ง อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าในประเทศจีน รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยให้เป็นที่จดจำ หาตลาดรองรับทั้งในเมืองหลักและเมืองรองของจีนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง หาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเพิ่มเติม พร้อมเดินหน้ามาตรการเชิงรุก ตามแผนบริหารจัดการผลไม้ปี 2568 รวม 7 มาตรการ ครอบคลุม 25 แผนงาน ให้ผลไม้ไทยปีนี้ได้ราคาดีตลอดทั้งปี.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password