ดึง บสย.ควบรวม NaCGA ภายใน 1 ปี – คลังชงเข้า ครม. มี.ค.นี้ หวังยกเครื่องกลไกสินเชื่อไทย

“เผ่าภูมิ” เปิดตัว “พ.ร.บ. สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (NaCGA)” 132 มาตรา ชงเข้า ครม. มี.ค. ชี้! ยกเครื่องกลไกปล่อยสินเชื่อไทย เผย! บสย.คือ NaCGA ในอนาคต

นายเผ่าภูมิ  โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ ยกร่าง “พระราชบัญญัติสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ พ.ศ. ….” เพื่อก่อตั้ง “สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ National Credit Guarantee Agency (NaCGA)” ประกอบด้วย 8 หมวด 132 มาตรา ให้เป็นกลไกสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SME ซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักของเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของประเทศ และผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้ว โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนมีนาคมนี้

หลังจากนั้น จะส่งให้ สำนักงานกฤษฎีกาพิจารณาแล้วจึงเข้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ซึ่งจะช่วยปลดล็อคปัญหาการเข้าไม่ถึงสินเชื่อของ SME ขนาดเล็กและขนาดกลาง หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ NaCGA จะเป็นด่านหน้าที่ SME จะติดต่อเพื่อให้ประเมินธุรกิจ วิเคราะห์ความเสี่ยงและค่าจ่ายธรรมเนียมใบค้ำประกันเครดิต ซึ่ง NaCGA  จะออกใบค้ำประกันเครดิตให้ SME นำไปยื่นขอสินเชื่อกับธนาคารและ Non-Bank หาก SME รายใดเสี่ยงมาก ก็จะจ่ายค่าธรรมเนียมให้นากก้าแพงว่ารายที่เสี่ยงน้อย ทั้งนี้ ความเสี่ยงในการค้ำประกันลูกค้าของธนาคารจะเหลือศูนย์ เพราะ NaCGA จะรับความเสี่ยง นอกจากนี้ ยังรับค้ำประกันหุ้นกู้ที่ออกโดย SME ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

“บสย.คือ NaCGA ในอนาคต นากก้าจะถูกกำกับโดยกระทรวงการคลังและ ธปท. ขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่างกฎหมายนากก้า คาดว่าใช้เวลา 1 ปีในการเปลี่ยนผ่าน บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ไปเป็น NaCGA โดยระหว่างนี้ นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.ยังคงกำกับดูแลการเปลี่ยนผ่านองค์กร บสย.ไปจนกว่ากฎหมายนากก้าจะมีผลบังคับใช้ เมื่อถึงเวลานั้น จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการ 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการกำกับนโยบาย มี รมว.คลัง เป็นประธาน และคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินงาน โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน จึงจะเริ่มกระบวนการคัดเลือกผู้บริหารนากก้า โดยต่อไปนากก้าจะเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลจากหลายหน่วยงานมากที่สุดในประเทศไทย เพราะข้อมูลต่างๆ จะใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยง” รมช.คลัง กล่าว

ทั้งนี้ NaCGA จะเป็นการกลไกสำคัญยกเครื่องการปล่อยสินเชื่อไทย เพิ่มอำนาจต่อรองให้ผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมกับความเสี่ยงรายบุคคล โดย NaCGA จะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ จะทำหน้าที่ในการประเมินความเสี่ยงและค้ำประกันเครดิตให้ลูกหนี้ โดย NaCGA จะค้ำประกันครอบคลุมถึง Non-Bank และการออกหุ้นกู้ด้วย

กลไกการทำงานของ NaCGA :

1. ผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อติดต่อ NaCGA เพื่อให้พิจารณาค้ำประกันเครดิตให้กับตนเอง ก่อนไปยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน

2. NaCGA จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบการ ตั้งแต่การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การค้ำประกันตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) โดยใช้ฐานข้อมูลและแบบจำลองความเสี่ยงด้านเครดิตที่ NaCGA จัดทำขึ้นจากข้อมูลทางการเงินและข้อมูลทางเลือก

3. NaCGA จะออก “ใบค้ำประกันเครดิต” ให้กับผู้ขอสินเชื่อ โดยผู้ขอสินเชื่อจ่ายค่าธรรมเนียมเพียงเล็กน้อยตามความเสี่ยง เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และสถาบันการเงินที่ร่วมจ่าย

4. ผู้ขอสินเชื่อนำใบค้ำประกันเครดิตที่ได้ไปยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน

5. สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ขอสินเชื่อ เนื่องจากผู้ขอสินเชื่อมี NaCGA เป็นผู้รับประกันความเสี่ยงด้านเครดิตแทนบางส่วนหรือทั้งหมดแล้ว

6. หากผู้ขอสินเชื่อไม่สามารถชำระหนี้ได้ NaCGA จะเป็นผู้รับความเสี่ยงกับสถาบันการเงินตามเงื่อนไข

ฐานข้อมูลของ NaCGA :

พ.ร.บ.ฯ ได้กำหนดให้ ธปท. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก กรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมที่ดิน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม นำส่งข้อมูลที่ไม่ระบุตัวตนเพื่อจัดทำแบบจำลองเครดิต (Credit Risk Model) ให้ NaCGA

แหล่งทุนของ NaCGA :

(1) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล (2) ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันจากผู้ประกอบการ (2) เงินสมทบจากธนาคารเป็นรายปี คิดเป็นสัดส่วนตามสินเชื่อธุรกิจ และ (4) เงินสมทบจาก Non-Bank ที่เลือกใช้บริการ NaCGA

การบริหารจัดการ :

บริหารด้วย ระบบคณะกรรมการ 2 คณะ ได้แก่ (1) คณะกรรมการกำกับนโยบาย มี รมว.คลัง เป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของ NaCGA และ (2) คณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐและผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ด้านบัญชี ด้านกฎหมาย ด้านเทคโนโลยี ด้านสถิติ ด้านธุรกิจ SMEs และด้านตลาดทุน มีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลการดำเนินงานของ NaCGA

“การจัดตั้ง NaCGA จะไม่ได้เป็นเพียงการยกระดับกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของภาครัฐ แต่ยังจะเป็นการสร้างระบบนิเวศใหม่สำหรับการระดมทุนของภาคธุรกิจไทย” นายเผ่าภูมิ กล่าวทิ้งท้าย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password