ปปง.ร่วมผลักดันใช้ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ปลอดภัยจากการฟอกเงิน

“โฆษก ปปง.” แจง สำนักงาน ปปง. ขานรับนโยบายรัฐ ร่วมกับอีก 3 หน่วยงานหลักด้านเศรษฐกิจ เดินหน้าผลักดันใช้ “สินทรัพย์ดิจิทัล” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ปลอดภัยจากการฟอกเงิน
นายวิทยา นีติธรรม ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ในฐานะ โฆษกประจำสำนักงาน ปปง. กล่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (คณะกรรมการ ปปง.) ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งมี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นประธานการประชุม และ นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นกรรมการและเลขานุการ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงาน ปปง. กระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.ล.ต. และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ไปหารือร่วมกันในการออกนโยบายร่วม (Joint Policy Statement)

เพื่อผลักดันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลให้ปลอดภัยจากการฟอกเงิน อันเป็นการเสริมสร้างการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่าจะไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และสามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจและเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน จึงสมควรวางมาตรการเพื่อป้องกันอาชญากรรมการฟอกเงินผ่านธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนี้
1. มาตรการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยการกำกับ ตรวจสอบให้ผู้ประกอบการต้องมีมาตรการตรวจสอบและติดตามธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างรัดกุม เช่น กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการทำความรู้จักลูกค้า การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และการรายงานการทำธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย
2. มาตรการเฝ้าระวังและติดตามธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหรือองค์กรที่อยู่ในพื้นที่หรือประเทศที่มีความเสี่ยงสูงด้านการฟอกเงิน หากมีการทำธุรกรรมผ่านธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ทั้งนี้ สำนักงาน ปปง. จะจัดประชุมหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.ล.ต. และ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาการจัดทำนโยบายร่วมกัน (Joint Policy Statement) ให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการ ปปง. ต่อไป.