‘พาณิชย์’ เผย! พฤติกรรมใช้จ่ายชาวฝรั่งเศสช่วงปีใหม่ สนใจ ‘ผลไม้ไทย-อาหารไทย’ สูงมาก
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยพฤติกรรมจับจ่ายชาวฝรั่งเศสช่วงปีใหม่ สนใจผลไม้ไทย “ลิ้นจี่-แก้วมังกร-เสาวรส-เคปกูสเบอรี่-ส้มจี๊ด-มะม่วง” และอาหารไทย เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการตอบโจทย์ทำเงินช่วงเทศกาลสำคัญ
นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ ตามนโยบายนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปารีส ถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าอาหารในฝรั่งเศส ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองครั้งสำคัญปลายปี 2024 ที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นแนวทางในการผลักดันสินค้าไทย เข้าสู่ตลาดทำเงินเข้าประเทศเพิ่มขึ้นได้
ทั้งนี้ โดยทูตพาณิชย์ ระบุว่า ผู้บริโภคชาวฝรั่งเศสยังคงต้องจ่ายค่าอาหารเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ จากปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่สินค้าอาหารหลายรายการที่เป็นที่นิยมในช่วงเทศกาลมีการปรับลดราคาลงจากปีที่แล้ว เช่น ฟัวร์กราส์ และราคาเนื้อสัตว์ปีกที่วางขายในห้างค้าปลีกลดลงประมาณร้อยละ 5 อาหารทานเล่นแช่แข็ง ปรับราคาลดลงร้อยละ 5 แต่ยังคงไม่เพียงพอที่จะช่วยผู้บริโภคลดค่าใช้จ่ายสำหรับมื้ออาหารเพื่อการเฉลิมฉลองปลายปีได้เท่าที่ควร เนื่องจากสินค้าอาหารรายการอื่นๆที่เป็นที่นิยมยังคงมีการปรับขึ้นราคาจากปี 2023 ดังเช่น ปลาแซลมอน เห็ด แชมเปญ (+ร้อยละ 4.5) ช็อคโกแลต (+ร้อยละ 3.5) หรือหอยทากอบแช่แข็ง (+ร้อยละ 5.3) ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายสำหรับมื้ออาหารในเทศกาลปีใหม่ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 123 ยูโร (+ร้อยละ 2.2 จากปีที่แล้ว)
แม้ราคาสินค้าอาหารหลายรายการจะเริ่มมีการปรับลดราคาลง แต่ยังคงมีสินค้าอีกหลายรายการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมในการจับจ่ายสำหรับมื้ออาหารในช่วงเวลาเทศกาลนี้จะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1-3 นอกจากผู้บริโภคที่จำเป็นต้องปรับตัวแล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการค้าปลีกเองก็เช่นกัน ดังเช่น ห้างค้าปลีก Carrefour ใช้กลยุทธ์การลดราคาสินค้า ซึ่งได้แนวความคิดมาจากเทศกาลลดราคา Black Friday ที่สามารถกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ซึ่งกลยุทธ์การปรับลดราคาของห้างค้าปลีกในช่วงเทศกาลสามารถช่วยกระตุ้นให้สัดส่วนของผลประกอบการขายสินค้าอาหารในช่วงปลายปีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16 เป็นร้อยละ 20 ของผลประกอบการโดยรวมตลอดทั้งปี
อย่างไรก็ตาม โดยผู้บริโภคฝรั่งเศสยังคงรักษาความระมัดระวังในการใช้จ่ายเป็นอย่างมาก เนื่องมาจากความไม่แน่นอนทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แต่เนื่องมาจากประสบการณ์การบริโภคตั้งแต่ปี 2021 ที่ราคาสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้ชาวฝรั่งเศสสามารถปรับแนวทางในการบริโภคได้ดียิ่งขึ้น ตั้งแต่การเลือกซื้อสินค้าอาหารของ House Brand จนถึงการปรับเปลี่ยนเมนูอาหารในช่วงเทศกาล ลดเมนูที่มีราคาสูงเป็นเมนูเป็นเมนูอาหารที่มีราคาเข้าถึงได้ง่ายกว่า ดังเช่น เลือกมันฝรั่งทอดหรือชีสเป็นเมนูอาหารทานเล่นระหว่างช่วงเทศกาล ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 26 ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม นอกจากนี้ผู้บริโภคเลือกเครื่องดื่มที่มีราคาถูกลง ดังเช่น SPARKLING WINE ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เนื่องจากมีราคาถูกกว่าแชมเปญถึงร้อยละ 80 ยอดขายไอศกรีมแบบธรรมดาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 แทนที่การบริโภค Ice Cream Cake ที่มีราคาสูงกว่า
“งานเฉลิมฉลองเทศกาลปลายปีสำหรับผู้บริโภคชาวฝรั่งเศสยังคงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงมีการปรับตัวด้วยการปรับลดค่าใช้จ่าย แต่ยังคงให้ความสำคัญกับการเฉลิมฉลองร่วมกันกับครอบครัว นอกเหนือจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป สินค้าผลไม้ไทยที่จัดว่าเป็นผลไม้ exotic สำหรับชาวฝรั่งเศส ตัวอย่างเช่น ลิ้นจี่ แก้วมังกร เสาวรส เคปกูสเบอรี่ ส้มจี๊ด มะม่วง เป็นต้น กลับได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงเทศกาลปลายปี ดังนั้นการนำเสนอผลไม้ไทย รวมถึงสินค้าอาหารไทยให้กับผู้บริโภคฝรั่งเศสในช่วงเทศกาลปลายปี จึงเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาผู้บริโภคชาวฝรั่งเศสจะเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่าย แต่หากผู้ประกอบการสินค้าอาหารไทยเตรียมวางแผน ด้านการส่งสินค้า การทำการโฆษณา การทำการตลาด เช่น นโยบายลดราคาสำหรับช่วงเทศกาลปลายปี ร่วมมือกับห้างค้าปลีกจะสามารถช่วยให้ผู้บริโภคชาวฝรั่งเศสหันมาซื้อสินค้าอาหารและผลไม้ไทยได้เพิ่มมากขึ้นได้เช่นเดียวกัน” นางสาวสุนันทา กล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169.