เกมลึก! สยบคลื่นใต้น้ำ เมื่อการเมืองจำต้องเปลี่ยนตัวชิง ‘ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ’

แรงต้าน…คลื่นใต้น้ำและบนดินที่โถมซัดใส่ “รัฐบาลแพทองธาร” ปมการเมือง วางตัว “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ชิงนั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ สุดท้าย ต้านไม่ไหว ยอมแรก…เลื่อนการประชุมสรรหาออกไปอีก 1 สัปดาห์ ยอมสอง…กับข่าววงใน เปลี่ยนตัวชิง เป็น “ปลัดฯน้อย – พงษ์ภาณุ เศวตรุณ” อดีตรองปลัดคลังและปลัดท่องเที่ยวฯ

ไม่ใช่เรื่องที่น่าเซอร์ไพรซ์นักสำหรับ การเลื่อนประชุมเพื่อสรรหาประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ออกไปก่อน

ล่าสุดที่ นางวิเรขา สันตะพันธุ์ เลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธปท. แจ้งกับ สื่อมวลชนที่รอทำข่าวที่แบงก์ชาติ เมื่อช่วงสายวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 “ขอเลื่อนการประชุมนัดนี้” ด้วยเหตุผลคือ…

 ประธานกรรมการคัดเลือก “นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธ์” ได้หารือกับกรรมการคัดเลือก และมีความเห็นร่วมกันว่า…คณะกรรมการฯต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านครบถ้วนเพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงให้เลื่อนกำหนดการประชุมที่ออกไป เป็นวันที่ 11 พฤศจิกายน หรือในอีก 7 วันข้างหน้า

อันที่จริงเรื่องนี้ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อย่าง นายสมชาย แสวงการ ที่มีสายพันธุ์อันดีกับ กลุ่มการเมืองนอกสภาฯ ที่อยู่ตรงข้ามกับ อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลเพื่อไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงแนวโน้มการเลื่อนประชุมเพื่อสรรหา ประธานบอร์ด ธปท. มาก่อนแล้ว และเป็นสื่ออย่าง สำนักข่าวอิศรา ที่ยืนยันในเรื่องนี้ เสมือนปูทางให้ นางวิเรขา ทำการสื่อสารแมสเสจเรื่องราวในทำนองนี้ได้ง่ายขึ้น

สอดรับกับ แรงกดดันจากภายนอก หลังจาก กลุ่มการเมืองนอกสภาฯ อย่าง…กลุ่ม คปท. ศปปส. และกองทัพธรรม ราว 50 คน ภายใต้การนำของ นายพิชิต ไชยมงคล จะเดินทางมาที่ ธปท. ในวันและเวลาใกล้เคียงกับการประชุมในวันนี้ เพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ถึงการต่อต้าน คนจากฝ่ายการเมือง เช่น นายกิตติรัตน์ ​ณ ระนอง ที่ถูกวางหมุดหมายให้เป็น ประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ ด้วยการ…ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการชุดนี้ เพราะพวกเขาเชื่ออย่างสนิทใจว่า…การสรรหาประธานบอร์ด ธปท.ครั้งนี้ ถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซงอย่างไม่ต้องสงสัย

อีกด้านหนึ่ง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโอกาสประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 4/2567 เมื่อช่วงสายวันเดียวกัน ณ อาคาร 150 ปีกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะ ประเด็นการเปลี่ยนตัวผู้สมัครฯในสายของกระทรวงการคลัง ซึ่ง นายสถิต ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการคัดเลือก เอง ก็คงถูกใบสั่งให้ต้องปรับเปลี่ยนตัวเข้าชิงดำจาก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง มาเป็น นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง เพื่อลดแรงกดดันทางสังคม โดย นายพิชัย ปฏิเสธจะตอบคำถามดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เขากล่าวเพียงสั้นๆ ว่า…

“การจะเสนอชื่อกันใหม่ได้หรือไม่? ตนไม่ทราบ ก็ต้องคุยกัน ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการสรรหาฯ และผู้เกี่ยวข้องทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งที่จริงอะไรก็ตามที่ทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ ทุกคนมีความพอใจ ถือเป็นเรื่องที่ดีที่สุดอยู่แล้ว” นายพิชัย กล่าวและย้ำว่า คนที่ทำหน้าที่ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่ได้มีอิทธิพลมากพอที่จะชี้นำคณะกรรมการแบงก์ชาติได้ทั้งหมด ความรับผิดชอบที่มี…มีเพียงการตัดสินใจเชิงนโยบายเพียงไม่กี่เรื่อง ซึ่งตนก็เคยอยู่ร่วมคณะกรรมการของแบงก์ชาติมาแล้วก่อนหน้านี้ จึงรู้ดีในเรื่องดังกล่าว

ถึงตรงนี้…มีแนวโน้มสูงมากที่ ฝ่ายการเมืองอาจต้อง “สลับหน้าเล่น” เปลี่ยนม้ากลางศึกจาก นายกิตติรัตน์ มาเป็น นายพงษ์ภาณุ อย่างน้อย…คนใหม่ ก็ไม่ใช่คนการเมืองจ๋า! และที่สำคัญ นายพงษ์ภาณุ สมัยดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสรรพสามิต ในยุค รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เคยถูกสั่งย้ายเข้ากรุ ไปดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงการคลัง ในยุคน้ำท่วมใหญ่ปี 2454 รุ่นเดียวกับที่ นายถวิล เปลี่ยนสี ถูกสั่งย้ายออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคง(สมช.) กระทั่ง กลายเป็นประเด็นในทางการเมือง ตามหลอกหลอน นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่อยมา

ความที่ไม่ได้เป็น “ปลาน้ำเดียวกัน” มาก่อนของ นายพงษ์ภาณุ อาจช่วยทำให้อะไรๆ ระหว่าง…รัฐบาล และกระทรวงการคลัง กับแบงก์ชาติ รวมถึง กองเชียร์สายหลวงตามหาบัวฯ ทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น

อย่างน้อยภาพความเป็น “การเมืองรุกแบงก์ชาติ” คงพอบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง

และก็น่าจะ ลดช่องว่าง…จุดอ่อนของกันและกัน ที่ฝ่ายหนึ่ง…ภาพการเมืองหวังจะครอบงำแบงก์ชาติ ก็คงไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน อีกด้านหนึ่ง…ภาพที่แบงก์ชาติ เคยบริหารและตัดสินใจกันเอง จนเกิดความผิดพลาด กระทั่ง สร้างความเสียหายตามมาอย่างใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจไทยและเอเชีย เมื่อครั้งพ่ายแพ้ในเกมการต่อสู้ค่าเงินบาทกับ…ปีศาจการเงิน “จอร์จ โซรอส” จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540

สิ่งนี้…ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นมาอีก!!!.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password